วาง 4 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนข้อมูลประเทศไทย ยึดหลักปลอดภัย-ตอบโจทย์ใช้งาน

 

สดช. เผยผลการศึกษาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “รัฐบาลยุคดิจิทัล เคลื่อนไทยด้วยยุทธศาสตร์ข้อมูล” เดินหน้าพัฒนาระบบข้อมูลภาครัฐ ดึงเอกชนเชื่อมโยง Data ยึดหลักความปลอดภัยข้อมูล มุ่งตอบโจทย์ผู้ใช้งาน และการใช้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) มีมติเห็นชอบการดำเนินการตามกรอบร่างแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ข้อมูลประเทศไทย (Thailand National Data Strategy) และเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูล เพื่อดำเนินการตามกรอบร่างแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ข้อมูลของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนาและบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นเอกภาพทั้งในระดับชาติในภาคมิติอุตสาหกรรมเฉพาะ โดยในวันนี้เป็นการนำเสนอและประชาสัมพันธ์ (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์ข้อมูลของประเทศไทย รวมถึง (ร่าง) แผนการดำเนินงานและแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลของประเทศไทย

ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อยอดภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นและการประชาพิจารณ์จากทุกภาคส่วน เพื่อให้ครอบคลุมแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลในอุตสาหกรรมทั้ง 6 มิติ อันจะส่งผลให้ภาครัฐมีการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน รวมถึงภาคเอกชน ประชาชน ได้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาครัฐผ่านระบบคลาวด์เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต

โดยผลการศึกษาสถานการณ์ภาพรวม ช่องว่างและปัญหาด้านข้อมูลในประเทศไทยสู่การจัดทำยุทธศาสตร์ข้อมูล เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)   พบว่า ปัจจัยหลักคือ การวางแผน การจัดเก็บและการเผยแพร่ข้อมูลของภาครัฐอย่างเป็นระบบ การกำหนดชุดข้อมูลที่มีคุณค่าและการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ รวมถึงปัจจัยสนับสนุนอีกหลายประการที่จะพัฒนาข้อมูลของประเทศไทยอย่างครบวงจร คือ การร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อยกระดับการให้บริการทางด้านข้อมูล เพราะข้อมูลไม่ได้อยู่แค่ในภาครัฐเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลสำคัญอยู่กับภาคเอกชนด้วย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่สำคัญด้านธรรมาภิบาลและสถาปัตยกรรมข้อมูล เช่น การจัดเก็บ เชื่อมโยง แบ่งปัน บูรณาการ และใช้ประโยชน์ข้อมูล เป็นต้น เพราะข้อมูลจำเป็นต้องมีความปลอดภัย อยู่ในกรอบธรรมาภิบาลข้อมูล มีการอภิบาลข้อมูลที่ดี และข้อมูลควรมีการจัดเก็บและบันทึกในมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งการออกแบบให้สามารถทำงานร่วมกันได้ อีกทั้งการยกระดับแรงงานทั้งในภาครัฐและเอกชนให้มีทักษะทางด้านข้อมูล

ในส่วนของยุทธศาสตร์ข้อมูลของประเทศไทย เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาทางด้านข้อมูลของประเทศ 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับการให้บริการทางด้านข้อมูลภาครัฐ โดยมีเป้าหมายให้ภาครัฐมีการวางแผน รวบรวม และจัดเก็บข้อมูลอย่างคุ้มค่า มีข้อมูลที่มีคุณค่าสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล และส่งเสริมให้ภาครัฐมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมความร่วมมือทางด้านข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนข้อมูลของประเทศ ผ่านมาตรการสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ข้อมูลในประเทศไทยมีความครบถ้วน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาด้านธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐและการเชื่อมโยงข้อมูล โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมให้ข้อมูลภาครัฐและเอกชนมีคุณภาพ สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ ได้รับการบันทึกในมาตรฐานเดียวกัน และข้อมูลมีความปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูล และไม่สร้างความเสียหายให้หน่วยงาน

และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาทักษะทางด้านข้อมูลให้กับบุคลากรในภาครัฐและเอกชน โดยเน้นการพัฒนาทักษะทางผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในไทย และเพิ่มบุคลากรที่มีทักษะทางด้านข้อมูลในภาครัฐ เพื่อให้มีทักษะพร้อมในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/technology/technology/597425