- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
“แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ไม่ใช่แค่ช่องทางใหม่ที่ประชาชนจะสามารถแจ้งปัญหาของเมืองให้กับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบ้านเมืองให้ทราบเท่านั้น ทว่า แพลตฟอร์มนี้ยังช่วยดึงให้ภาคส่วนต่างๆ มาใช้แพลตฟอร์ม สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ของประชาชน ที่จะทำความเข้าใจและใช้งาน”
“โดยประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบ เช่น ปัญหาความสะอาด, ปัญหาทางเท้า, สาธารณภัย, สิ่งอำนวยความสะดวกของผู้พิการ ฯลฯ หน่วยงานจะได้รับแจ้งรายงานปัญหาที่มีข้อมูลเพียงพอต่อการดำเนินการ เช่น ภาพถ่าย, ตำแหน่งบนแผนที่ และสามารถรายงานข้อมูลสถานะการแก้ไขปัญหาแก่ประชาชน เช่น ผ่าน Line Application จึงถือเป็นช่องทางใหม่ ในการรับแจ้งปัญหาเมืองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว” ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้เคยกล่าวถึงแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ไว้ ในฐานะเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยผู้คิดค้น
มาในวันนี้แพลตฟอร์มนี้ได้นำไปใช้งานจริง โดยใช้เป็นแพลตฟอร์มรับเรื่องและแจ้งปัญหาต่างๆ ที่คนเมืองกรุงคุ้นเคย และด้วยประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มนี้ทำให้ Traffy Fondue ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในปี 2564 ที่ผ่านมา
และในปี 2567 นี้ ก็มีข่าวดีเกี่ยวกับการพัฒนาแพลตฟอร์มอัจฉริยะนี้จาก ดร.วสันต์ อีกครั้ง โดย ดร.วสันต์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในกิจกรรม NSTDA Meets the Press ถึงการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ Traffy Fondue ยกระดับการแจ้งปัญหาด้วย AI สุดล้ำ!
โดยได้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้กับ แพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่อช่วยให้การสื่อสารและการแจ้งปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจปัญหาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ตอบโจทย์เรื่องที่แจ้งให้แก้ปัญหามากยิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี สะท้อนการบริหารจัดการเมืองที่มีความโปร่งใสจากการมีส่วนร่วมของประชาชน
ทั้งนี้ ดร.วสันต์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในฐานะผู้อำนวยการหน่วยบริการนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเมือง สวทช. โดยกล่าวว่า
“ทีมวิจัยหน่วยบริการนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเมือง พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการ ทราฟฟี ฟองดูว์ : แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง ซึ่งเป็นช่องทางรับแจ้งและจัดการปัญหาเมืองที่พบผ่าน LINE Chatbot แบบอัตโนมัติ เมื่อระบบได้รับรายละเอียดปัญหาจากผู้แจ้งครบถ้วนแล้ว ระบบจะวิเคราะห์ประเภทปัญหาจากข้อมูลโดยอัตโนมัติ และแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว”
“อีกทั้งยังสามารถสอบถามเพิ่มเติมหรือแจ้งความคืบหน้าแก่ผู้ที่แจ้งปัญหาได้แบบเรียลไทม์ โดยมีการขยายผลการใช้งาน 77 จังหวัด มีหน่วยงานใช้งานแล้วมากกว่า 15,000 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือน มิ.ย.67) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ช่วยลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ และให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและยกระดับการมีส่วนร่วมของพลเมือง ทั้งนี้มีสถิติรับเรื่องร้องทุกข์ (มิ.ย. 65 – ก.ค. 67) มากกว่า 940,000 เรื่อง ดำเนินการเสร็จสิ้นมากกว่า 733,000 เรื่อง คิดเป็น 77%”
*อย่างไรก็ดี ดร.วสันต์ กล่าวว่า “การอัปฟีเจอร์ใหม่ AI ใน Traffy Fondue นั้น ก็เพื่อช่วยให้การสื่อสารเรื่องแจ้งปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการนำเทคโนโลยี AI มาเป็นตัวช่วยประมวลข้อมูลเรื่องรับแจ้งปัญหาที่ประชาชนแจ้งเข้ามา ตั้งแต่สรุปสาระของปัญหาที่ได้รับแจ้ง คัดแยกประเภทปัญหาจากข้อความ และรูปภาพ จัดลำดับความสำคัญของปัญหา และสามารถเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในแก้ไขปัญหา ที่สำคัญคือการตรวจสอบคำหยาบ คำไม่สุภาพ และเสนอแนะข้อความที่สุภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจปัญหาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตอบโจทย์เรื่องที่แจ้งให้แก้ปัญหามากยิ่งขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ดี และสะท้อนการบริหารจัดการเมือง ที่มีความโปร่งใสจากการมีส่วนร่วมของประชาชน”
“นอกจากนี้ฟีเจอร์ใหม่ของ Traffy Fondue ยังพัฒนาขั้นตอนการแจ้งปัญหาจาก 5 ขั้นตอน เหลือ 3 ขั้นตอน เพื่อความสะดวกในการแจ้งเรื่องแก้ปัญหาให้กับประชาชน ได้แก่ 1. กดปุ่ม แจ้งเรื่องใหม่ แล้วแชร์พิกัดตำแหน่ง 2.พิมพ์รายละเอียดของปัญหา และ 3.ส่งภาพประกอบของปัญหาและรับการ์ดยืนยันการแจ้ง”
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/07/17/traffy-fondue-platform-new-version-ai/
- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ