“ออสเตรเลีย” เตรียมผงาด ขึ้นแท่นผู้นำ “พลังงานหมุนเวียน” ด้วย “โซลาร์ฟาร์ม” ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

รัฐบาลออสเตรเลียได้อนุมัติให้เมกะโปรเจกต์ Australia-Asia PowerLink ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 12,400 เฮกตาร์ (77,500 ไร่) มูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 694,892 ล้านบาท) ซึ่งเป็นโซลาร์ฟาร์มหรือโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผ่านข้อกำหนดและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเรียบร้อยแล้ว

ทำให้แผนการอันทะเยอทะยานที่จะสร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในพื้นที่ห่างไกลทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งจะส่งพลังงานด้วยสายเคเบิลใต้น้ำไปยังสิงคโปร์นั้นใกล้เข้ามาอีกขั้น เนื่องจากการอนุมัติดังกล่าวปูทางไปสู่การพัฒนาในระยะต่อไป แต่คาดว่าจะไม่มีการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายจนกว่าจะถึงปี 2027

Australia-Asia PowerLink (AAPowerLink) ของ SunCable จะควบคุมและจัดเก็บพลังงานหมุนเวียนจากนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีของออสเตรเลียสถานที่ที่มีแสงแดดสดใสและน่าเชื่อถือมากที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับการส่งสัญญาณตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันไปยังเมืองดาร์วินและสิงคโปร์ผ่านระบบส่งกำลังไฟฟ้าแรงสูงกระแสตรง (HVDC)

Sun Cable วางแผนที่จะสร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดมหึมาใกล้กับเมืองเอลเลียต และขนส่งไฟฟ้าไปยังเมืองดาร์วินทางตอนเหนือของออสเตรเลีย โดยใช้สายส่งไฟฟ้าเหนือศีรษะยาว 800 กิโลเมตร จากนั้นส่งต่อไปยังบรรดาลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในสิงคโปร์โดยใช้สายเคเบิลใต้น้ำยาว 4,300 กิโลเมตร โดยจะช่วยในการจัดหาไฟฟ้า 1.75 GW ให้กับสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะคิดเป็นประมาณ 15% ของความต้องการพลังงานของสิงคโปร์

โครงการ Australia-Asia PowerLink มีเป้าหมายที่จะส่งมอบพลังงานไฟฟ้าสีเขียวได้มากถึง 6 กิกะวัตต์ต่อปี ซึ่งตามคำกล่าวของ Tanya Plibersek รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำของออสเตรเลีย จะช่วย “เปลี่ยนออสเตรเลียให้กลายเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานหมุนเวียน” และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ผลประโยชน์ทางอ้อมต่อออสเตรเลียจะรวมถึงการเพิ่มขึ้นในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนการก่อสร้างและการดำเนินงานของเมกะโปรเจกต์นี้ ตลอดจนอาจกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากต้นทุนพลังงานที่ลดลง

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนในช่วงแรกจาก Andrew Forrest เจ้าพ่อเหมืองแร่ชาวออสเตรเลีย และ Mike Cannon-Brookes ผู้ร่วมก่อตั้ง Atlassian บริษัทพัฒนาซอฟแวร์ชั้นนำของโลก แผนดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำในระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการของ Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในขณะนั้น และ Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง “เศรษฐกิจสีเขียว” ในปี 2022

ในเดือนมกราคม 2023 โครงการดังกล่าวล้มเหลวเมื่อ Sun Cable เข้าสู่การบริหารจัดการโดยสมัครใจของเจ้าหนี้ (Voluntary Administration)

เนื่องจากข้อพิพาทเรื่องเงินทุนระหว่าง Andrew Forrest และ Mike Cannon-Brookes ต่อมาภายในเดือนพฤษภาคมของปีนั้น กลุ่มธุรกิจที่นำโดย Grok Ventures ของ Mike Cannon-Brookes ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทดังกล่าว และได้ดำเนินการซื้อกิจการเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2023

Cameron Garnsworthy กรรมการผู้จัดการ SunCable Australia กล่าวว่า “บริษัทรู้สึกยินดีที่สามารถผ่านพ้นอุปสรรคสำคัญด้านกฎระเบียบได้ หลังจากใช้เวลาสี่ปีในการประเมินอย่างเข้มข้นและการปรึกษาหารือสาธารณะกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วออสเตรเลีย จากนี้ไปจะมุ่งเน้นความพยายามในขั้นตอนต่อไปของการวางแผนเพื่อผลักดันโครงการนี้ให้บรรลุการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายซึ่งตั้งเป้าไว้ภายในปี 2027″

โครงการนี้คาดว่าจะสร้างงานโดยตรงได้ 1,750 ตำแหน่งในระหว่างการก่อสร้าง และสร้างงานทางอ้อมอีก 12,000 ตำแหน่ง รวมถึงจะสร้างงานได้ 350 ตำแหน่งอย่างต่อเนื่องตลอดอายุการใช้งาน 70 ปี โดย SunCable Australia กล่าวว่าการจ่ายไฟฟ้าจะเริ่มต้นในช่วงต้นทศวรรษ 2030

อย่างไรก็ตาม SunCable ยังคงต้องเจรจาข้อตกลงการใช้ที่ดินของชนพื้นเมืองกับกลุ่มเจ้าของดั้งเดิมหลายกลุ่มตามเส้นทางสายส่งไฟฟ้าไปยังเมืองดาร์วิน

ทั้งนี้ “พลังงาน” เป็นประเด็นทางการเมืองมาเกือบสองทศวรรษในออสเตรเลีย ซึ่งพึ่งพาถ่านหินและก๊าซ รวมถึงการส่งออกเชื้อเพลิงเหล่านี้เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ

การพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเมื่อเทียบเป็นรายหัว

ด้านพรรคฝ่ายค้านหลักของออสเตรเลียประกาศชูนโยบายสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะสร้างโดยเร็วที่สุดในปี 2035

นี่คือทางคู่ขนานของพรรคการเมืองหลักแดนจิงโจ้ที่มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับแนวทางที่ออสเตรเลียจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และอาจเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าพรรคใดจะกำชัยในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

“ชาวออสเตรเลียมีทางเลือกสองทาง ระหว่างการเปลี่ยนผ่านพลังงานหมุนเวียนซึ่งกำลังดำเนินการอยู่แล้วเพื่อสร้างงานและลดราคาไฟฟ้า หรือจ่ายเงินราคาแพงเพื่อพลังงานนิวเคลียร์ที่อาจไม่มีวันเกิดขึ้น” รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำของออสเตรเลียกล่าว

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/08/22/australia-worlds-largest-solar-farm/