ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยสถานการณ์แรงงานไตรมาส 2/2567 พบว่า อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.07% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 430,000 คน อัตราการว่างงานดังกล่าว เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.81% และไตรมาส 1 ปี 2567 ในระดับ 1.01%
ขณะที่ข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) แบ่งระดับการศึกษาของผู้ว่างงาน พบว่า กลุ่มผู้ที่เรียนจบในระดับอุดมศึกษา เป็นผู้ที่ว่างงานมากที่สุด โดยมีอัตรา 1.67% รองลงมาคือ มัธยมศึกษาตอนปลาย 1.28% มัธยมศึกษาตอนต้น 1.12% ประถมศึกษา 0.58% การศึกษาอื่นๆ 0.47% ไม่มีการศึกษา 0.32% ต่ำกว่าระดับประถม 0.13% และไม่ทราบระดับการศึกษา 0.04%
ส่วนเหตุผลที่ว่างงาน จากการสำรวจพบว่า 59.25% ระบุว่า ลาออก รองลงมาคือ เลิก/หยุด/ปิดกิจการ 16.16% หมดสัญญาจ้างงาน 13.15% ถูกให้ออก/ไล่ออก/ปลดออก 5.47% และอื่นๆ 4.71%
แม้ว่าตัวเลขการว่างงานดังกล่าว จะยังไม่ถือว่าอันตรายมากนัก แต่เปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวด้านทักษะของแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต โดย World Economic Forum (WEF) ระบุว่า ภายในปี 2570 งานในภาคธุรกิจกว่า 42% จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ เช่นเดียวกับผลการสำรวจของไมโครซอฟท์ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn พบว่า ผู้บริหารไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI
ขณะที่ผลการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พบว่า เยาวชนและกลุ่มวัยแรงงานของไทยจำนวนมาก มีทักษะ “ต่ำกว่า” เกณฑ์ โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ ทั้งที่มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตในระดับสูง สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาทักษะให้แก่ประชากรอย่างจริงจัง เพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมูลค่าสูง
ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC กล่าวถึงระบบการศึกษายุคใหม่ว่า ต้องตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลง แบบ “Future skills” คือต้องมุ่งสร้างทักษะสมรรถนะใหม่ให้กับบุคลากรและช่วยปรับ landscape ของการศึกษาที่นับวันยิ่งจำเป็นมาก เช่น การศึกษาแบบ EEC model ที่มุ่งปรับรื้อการศึกษา พัฒนาบุคลากรให้กลุ่มคนในระบบการศึกษาจบแล้วมีงานทำทันที มีรายได้สูง โดยสร้างความร่วมมือจัดการศึกษาระหว่างสถานศึกษากับภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงในการมีฐานความรู้ ทักษะ สมรรถนะตรงตามอาชีพและระบบการงานจริงในการศึกษา
การปรับสร้างการศึกษาดังกล่าว ทำให้เด็กที่จบการศึกษา EEC Model type A จบแล้วมีงานทำทันทีทุกคนและมีรายได้สูงกว่าที่จบการศึกษาทั่วไป หยุดความสูญเปล่าทางการศึกษาได้ 100% และทำให้ทุกคนมีอนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีในสาขาอาชีพที่เลือก
ส่วนการจัดการศึกษาและฝึกอบรมระยะสั้นแบบ EEC model type B จะช่วยปรับทักษะสมรรถนะระยะสั้น ช่วยเสริมศักยภาพบุคลากรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวของระบบงานและเทคโนโลยี ส่งเสริมยกระดับให้บุคลากรที่มีงานทำอยู่แล้ว ปรับตัว ปรับทักษะ สร้างความก้าวหน้าเท่าทันโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้จบการศึกษามีงานทำทันทีและรายได้สูง ช่วยให้ประเทศรับมือกับ Future skills ได้ สร้างความมั่นใจกับการลงทุนจากทั่วโลกในประเทศไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ เป็นกระบวนการช่วยยกระดับปรับสร้างคนและเศรษฐกิจสังคมโดยรวมของประเทศ
แนวทางการศึกษาตามแนวคิด EEC Model เป็นการพัฒนาทักษะบุคลากร เพื่อรองรับการจัดการศึกษายุคใหม่ตามหลัก “Demand Driven” ยกระดับพัฒนาทักษะบุคลากร สร้างกำลังคนตรงความต้องการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC สร้างโอกาสให้เยาวชนเรียนจบ มีงานตรงความสามารถ รายได้ดีอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย EEC Model Type A เป็นหลักสูตรระดับปริญญา (Degree) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช./ปวส.) ที่สถาบันการศึกษาร่วมมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนาหลักสูตรและทักษะบุคลากร เรียนฟรี มีงานทำ รายได้สูง เอกชนสนับสนุนทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร และ EEC Model Type B เป็นการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อปรับเพิ่มทักษะในระยะเร่งด่วน ภาครัฐอุดหนุนไม่เกินร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือเอกชนเป็นผู้สนับสนุน โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2.5 เท่า เพื่อเป็นการจูงใจนักลงทุนให้มีการส่งเสริมด้านพัฒนาบุคลากร
ล่าสุด EEC HDC ได้ริเริ่มโครงการใหม่คือ “EEC Model type C” มุ่งเป้าพัฒนาบุคลากรกลุ่มฐานเทคโนโลยีและการลงทุนใหม่ (new commer) ที่มีความต้องการบุคลากรสมรรถนะใหม่ ที่มีความจำเป็นในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของประเทศ จากการลงทุนและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ โดยวางกรอบงานเริ่มจากกลุ่มสมรรถนะด้านดิจิตอล โลจิสติกส์ และ De-carbornization ฯ รวมทั้งกำหนดให้จัดทำโครงสร้างการผลิตบุคลากรกลุ่มอุตสาหกรรม semi conductor แบบครบวงจร มุ่งยกระดับปรับฐานสมรรถนะบุคลากรและการศึกษาด้านนี้ เพื่อเสริมสร้างการปรับตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนในกลุ่มนี้ ที่มีความต้องการบุคลากรสูง
โครงการ EEC Model เกิดขึ้นจาก คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มองว่าสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อน EEC คือเรื่องการพัฒนา ‘คน’ รองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมยุคใหม่ นำมาสู่การจัดตั้งคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ในปี 2561 บริหารจัดการพัฒนาบุคลากรในโครงการดังกล่าว จนสัมฤทธิ์ผลในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างให้พื้นที่อื่นๆ ของประเทศนำไปประยุกต์ปรับใช้ได้
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/08/27/future-skills/