ถอดบทเรียนการใช้ ‘IDA Platform’ ช่วยเชื่อมโยงข้อมูลอัจฉริยะ เดินหน้าสู่ Industry 4.0 อย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” หรือ Industry 4.0 นั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนปฏิวัติกระบวนการผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างรัดกุม โดยเฉพาะการวางระบบโรงงานอัจฉริยะ ที่จำเป็นต้องมีเซ็นเซอร์ขั้นสูง ซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยและหุ่นยนต์วิเคราะห์ข้อมูลช่วยประมวลผลทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น ขณะที่ ต้องมีการใช้อุปกรณ์ IoT ที่มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น

และด้วยตระหนักในความจำเป็นเร่งด่วนนี้เอง ที่นำสู่การคิดค้น เทคโนโลยี IDA Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ตรวจจับสัญญาณต่างๆ จากเครื่องจักรในกระบวนการผลิต สู่การวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

โดยแพลตฟอร์ม IDA เป็นแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม ที่คิดค้นและนำเสนอโดยโครงการนำร่องสำคัญภายใต้ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) จากความร่วมมือระหว่าง ARIPOLIS-SMC สวทช. และพันธมิตรรัฐร่วมเอกชน โดยแพลตฟอร์มสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เพื่อตรวจจับสัญญาณต่างๆ จากเครื่องจักรในกระบวนการผลิตสู่การวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูล ทำให้ทราบสถานการณ์ทำงานของเครื่องจักร นำไปสู่การบริหารจัดการการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงานซึ่งตอบสนองความต้องการในการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และเพื่อให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่แท้จริงของแพลตฟอร์มอัจฉริยะนี้ ทาง สวทช. และ SMC ได้แสดงให้เห็นผ่าน Success case ของ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีการนำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้ในการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน ซึ่งผลลัพธ์สำคัญที่สะท้อนมาจากผู้ใช้ คือ การบริหารจัดการพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีปริมาณการใช้พลังงานและค่าไฟฟ้าที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ชี้ประสิทธิภาพของ ‘IDA Platform’ ที่ครอบคลุมการใช้งานได้ในหลากมิติ

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึง ‘IDA Platform’ ว่า

“สำหรับ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้มีการนำแพลตฟอร์ม IDA มาใช้นำร่องใน Plant 4 โดยมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะ System Integrator: SI ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ ภายในโรงงาน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องจักรการผลิตสู่การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) อย่างอิสระ ดังนั้นแพลตฟอร์ม IDA จึงสามารถประยุกต์ใช้งานครอบคลุมได้หลายมิติ ได้แก่

1.การตรวจวัดปริมาณการใช้พลังงานในโรงงาน (Energy Monitoring) โดยการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทราบต้นทุนรวมถึงภาพรวมด้านการใช้พลังงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานให้คุ้มค่าสูงสุด

2.การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต หรือ Overall Equipment Effectiveness (OEE) โดยการเชื่อมโยงข้อมูลพารามิเตอร์ต่าง ๆ ของเครื่องจักรเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิผลโดยรวมที่บ่งบอกความพร้อมของเครื่องจักร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประสิทธิภาพการผลิต นำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างตรงจุดเพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต (Productivity) แก่โรงงานอุตสาหกรรม


3.การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance) โดยการเชื่อมโยงข้อมูลพารามิเตอร์ต่างๆ ของเครื่องจักรมาวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง ถึงความเป็นไปได้ที่เครื่องจักรจะเกิดความเสียหายในอนาคต ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงที เป็นการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาเครื่องจักรในโรงงาน ลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้

แชร์ประสบการณ์จริงจากการใช้งาน IDA Platform ของ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด

ดร.กิตติวัตร โสมวดี รองผู้จัดการบริหารการผลิตฯ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ตัดสินใจในการใช้บริการการเข้ามาร่วม i4.0 Platform ว่า

“ที่ผ่านมา บริษัทไลอ้อน มีอุตสาหกรรม 2.0 อุตสาหกรรม 3.0 มาก่อนหลายโรงงาน กระทั่งในช่วงปี 2016 บริษัท ไลอ้อนฯ จะมีการสร้างโรงงานใหม่จำนวนมากจึงมีการปรับให้ทันสมัย และพัฒนาหลายรูปแบบโดยได้เข้าศึกษาข้อมูลและร่วมโครงการกับศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ของ สวทช. ที่เข้ามาช่วยประเมินอุตสาหกรรม 4.0 จึงเข้าร่วมเพื่อปรับกระบวนการผลิตเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม 4.0”

“โดยมีการเชื่อมโยงระบบที่เปลี่ยนจากการใช้กระดาษ มาเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นระบบดิจิทัล แล้วใช้ในการประเมินดัชนีชี้วัดระดับความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 Thailand i4.0 Index ทำให้ทราบประเด็นสำคัญที่โรงงานควรปรับปรุง ซึ่งทางบริษัทฯ เน้นปรับปรุงกระบวนการการผลิต หรือ Smart factory โดยนำ IDA Platform เข้ามาปรับใช้”

“และแพลตฟอร์ม IDA นี้ได้ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลพลังงานและแสดงผลในรูปแบบ Dashboard โดยบริษัทสามารถนำมาประยุกต์ปรับใช้ต่อยอดขยายผลไปยังระบบอื่นๆ ภายในโรงงานภาย เช่น ระบบไอน้ำ (Steam System) ชิลเลอร์ (chiller) เครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่ ระบบน้ำหล่อเย็นของเครื่องจักร (Cooling Tower: คูลลิ่ง ทาวเวอร์) ซึ่งขยายมาได้ 2 ปี แล้ว”

“สำหรับผลลัพธ์ที่ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ได้จากการใช้ IDA Platform คือ การประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงานในกระบวนการผลิต 60,000 kwh. (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ต่อปี ลดค่าไฟฟ้าในกระบวนการผลิตได้หลักแสนบาทต่อเดือน โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ไปพัฒนาระบบอื่นๆ ของโรงงานต่อไปได้”

เตรียมความพร้อม ขยายผล IDA Platform สู่ภาคอุตสาหกรรมไทย

ธเนศ อิงสกุลรุ่งเรือง ผู้จัดการส่วนเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในฐานะ System Integrator: SI ว่า

“ความสำคัญของ System Integrator: SI คือ การสนับสนุนโรงงานในสายการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยขยายผลแพลตฟอร์ม IDA สู่โรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงในราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อให้โรงงานสามารถทดลองใช้ IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม โดยร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิต หรือบริษัทที่เชี่ยวชาญทำงานร่วมกับโรงงานหรือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดสอบการทำงานของระบบและอุปกรณ์ รวมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลข้ามแพลตฟอร์ม และการพัฒนา Solution ที่ต้องการได้ในอนาคต”

“และในฐานะ System Integrator (SI) ทำหน้าที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ให้สามารถทำงานร่วมกับ IDA Platform โดยบทบาทของ SI ที่เข้าไปดำเนินการคือ สำรวจ ออกแบบ ประเมินปริมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และติดตั้ง รวมทั้งการเชื่อมโยงฮาร์ดแวร์เข้ากับแพลตฟอร์ม IDA และระบบอื่นๆ สิ่งสำคัญของ SI คือต้องเข้าใจ Pain Point และความต้องการของลูกค้า รวมทั้งพิจารณาถึงความคุ้มค่า”

“เพราะ Pain point ของโรงงานส่วนมาก คือ การมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นได้อย่างเต็มที่ อาทิ ไม่มีการใช้ข้อมูลเพื่อการแจ้งเตือนเรียลไทม์เมื่อเกิดความผิดปกติหรือปัญหา ทำให้ทีมงานไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที”

“อย่างไรก็ดี นอกจาก SI จะทำหน้าที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ให้สามารถทำงานร่วม IDA Platform แล้ว ยังต้องให้ความรู้กับบุคลากรในโรงงานถึงวิธีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการยกระดับ ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงาน ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเต็มที่ จึงไม่สามารถระบุได้ว่าการรั่วไหลของพลังงานหรือต้นทุนด้านพลังงานเกิดที่ไหน เมื่อไร แล้วโรงงานจะแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร”

“ดังนั้น “ดิจิทัลเทคโนโลยี” จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และอย่ากลัวที่จะปรับตัว ลองใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในโรงงานเพื่อให้เห็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อีกมาก”

ขณะที่ ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 (สวทช.) ได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า

“จากกรณีตัวอย่างการประเมิน Thailand i4.0 Index ของบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้บริษัททราบทิศทางของการปรับปรุงองค์กร เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน และระดับความพร้อมขององค์กร สามารถนำผลการประเมินที่ได้มาจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของบริษัทและบรรลุเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจได้ด้วย Digital Transformation”

“ทั้งนี้ แนวทางการยกระดับองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต้องประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1. Online & Interactive Self-assessment ซึ่ง จะมีตัวชี้วัดเป็น Thailand i4.0 Index มี 6 มิติหลัก 17 มิติย่อย และสามารถสรุปผลได้เป็น 6 Band Levels โดย Band 5-6 จะเท่ากับ Industry 4.0

ขั้นที่ 2. Initiation การรับการประเมิน Thailand i4.0 Index แบบ On-site โดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีความละเอียดมากกว่าและยังได้รับคำแนะนำสำหรับการพัฒนาต่อไป

ขั้นที่ 3. Solutioning การรับบริการที่ปรึกษาจากศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ไม่ว่าจะเป็นการทดลองใช้ Testbed & Facilities SMC การทำคอร์สการฝึกอบรม การกำหนดกลยุทธ์ วางแผนปรับปรุงระบบขององค์กร การจัดทำแผนการลงทุน รวมทั้งการขอรับการส่งเสริมจาก BOI

ขั้นที่ 4. Implementation & Operation การนำอุปกรณ์ Solution ต่างๆ ไปใช้จริงในโรงงาน และ SMC ยังมี Campaign ให้เงินสนับสนุนสำหรับโรงงานที่สนใจทำ Implementation & Operation

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/08/26/smc-nectec-nstda-ida-platform/