ต้องมอง AI เป็นผู้ช่วยหาเงินให้เราได้ – คนใช้งาน AI เก่ง คือคนที่จะอยู่รอด

 


  • AI ไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่เป็นเครื่องมือที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
  • ไม่ควรกลัว AI แต่ควรเรียนรู้และปรับตัวให้ใช้ประโยชน์จาก AI ได้ คนที่ใช้ AI เป็นจะมีความได้เปรียบในตลาดแรงงานอนาคต
  • การพัฒนาทักษะการใช้ AI เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในยุคดิจิทัล

หลายคนเกิดความกลัวว่าจะตกงาน หรือต้องเปลี่ยนไปทำงานอื่นแทนในอนาคต เพราะการเข้ามาของ AI แต่ความจริงแล้ว ต้องมอง AI เป็นผู้ช่วยของเราต่างการ และคนใช้งาน AI เก่ง คือคนที่จะอยู่รอด

หลายๆคน เชื่อว่า AI กำลังเก่งและฉลาดกว่ามนุษย์เรา และจากประเด็นนี้ ทำให้ใครหลายคนเกิดความกลัวว่าจะตกงาน หรือต้องเปลี่ยนไปทำงานอื่นแทนในอนาคต  คำว่า AI จะมาแย่งงานอาจจะผุดขึ้นในใจของคนที่กลัวปัญญาประดิษฐ์  แถมยังอดรู้สึกไม่ได้ว่า เทคโนโลยีสมัยนี้ดูน่าหวาดกลัวจนเกินกว่าจะควบคุมแล้ว

AI ได้กลายเป็นเทคโนโลยีพัฒนาแบบก้าวกระโดด ทำให้มนุษย์ต้องเริ่มเตรียมแนวคิดสำหรับรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ความกลัวต่อ AI เป็นอย่างไร ?

หากเราลองขยายความต่อการตั้งคำถามว่า “เราควรกลัว AI หรือไม่ ?” เรื่องนี้ มีใครหลายคนเคยแสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ Ron Schmelzer ผู้ก่อตั้ง TechBreakfast ซึ่งเป็นซีรีส์สาธิตด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับประเทศของสหรัฐฯ  และ ได้เขียนบทความลงนิตยสารธุรกิจ Forbes ในปี 2019 ไว้ ว่า “เราควรกลัว AI ไหม”

โดยแบ่งความกลัวออกเป็น 3 ประเภทดังนี้

ความกลัวที่จะถูก AI มาทำลายอาชีพ : เป็นคำเตือนที่หลายคนบนโลกกังวลและอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าที่สุด เพราะจะกระทบกับผู้คนบนโลกทั้งหมด

ความกลัวที่จะถูกผู้คุมเทคโนโลยีควบคุม : เมื่อเทคโนโลยีถูกสร้างขึ้นให้สามารถรับใช้คนบนโลกได้ และสามารถชี้นำ เกลี้ยกล่อมให้มนุษย์ทำตามได้ จะทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่ของโลกถูกควบคุมโดยผู้คุมเทคโนโลยี

ความกลัวที่ AI จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้เหนือมนุษย์ : อย่าง Skynet ในภาพยนตร์ The Terminator (คนเหล็ก) ที่ได้กล่าวถึง ที่จักรกล หรือ AI สามารถเรียนรู้และคิดได้ว่ามนุษย์คือภัยคุกคามของโลกใบนี้และจำเป็นต้องถูกทำลาย ปัจจุบันมนุษย์ นักวิจัยและนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ยอมรับว่า ยังไม่สามารถทำ The Superintelligence ขึ้นมาได้ด้วยหลาย ๆ ปัจจัยตั้งแต่ข้อมูลที่ใช้ในการสอน และความสามารถในแขนงต่าง ๆ เช่น ปัญญาด้านการมองเห็น Computer Vision จะมีกระบวนการเรียนรู้และการทำงานต่างจากความสามารถด้านภาษา Natural Language Processing (NLP) เรายังพัฒนาแยกจากกัน ทำให้จักรกลยังไม่สามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้รอบด้านใกล้เคียงกับมนุษย์  โดย Ron Schmelzer  จึงสรุปไว้ว่ากว่าที่มนุษย์จะพัฒนา AI ให้อยู่ในจุดนั้นได้ ยังเป็นเวลาอีกยาวไกล

อย่ากลัว AI เลย 

ขณะเดียวกัน หากย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว  World Economic Forum (WEF) เคยออกเอกสารในปี 2020 ไว้ว่า “อย่ากลัว AI เพราะมันจะนำไปสู่การเติบโตในระยะยาว” และในช่วงการระบาดของโควิด-19 มันได้ ได้เร่งให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติของงานประจำขึ้นมาหลายอย่าง เช่น ระบบตรวจจับอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ หรือกล้องตรวจจับการสวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนเข้าสถานที่ หุ่นยนต์จัดส่งยาให้แก่ผู้ป่วยระหว่างกักตัวทำให้ผู้ดูแลไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง แม้กระทั่งระบบตรวจสอบภาพ X-ray ปอดเพื่อวินิจฉัยโรค สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกันเอง นั่นคือช่วงเวลาที่ เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์  AI เติบโตเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยหากย้อนกลับไปประมาณ 30 ปีที่แล้ว ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ก็เคยสร้างความกังวลที่คล้ายกันนี้ขึ้น เพราะการส่งข้อมูลข้ามโลกในเวลาอันรวดเร็วนั้นได้เข้ามาทดแทนคนที่ทำหน้าที่ส่งสารต่าง ๆ โดยตรง

แต่เชื่อหรือไม่ว่าเทคโนโลยีนี้ได้สร้างงานนับล้าน หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของ GDP สหรัฐอเมริกา และเป็นส่วนสำคัญของทุกธุรกิจที่ขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้อีกแล้ว

การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่ขับเคลื่อนโดย AI และ Deep tech จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงความคิดพื้นฐานของโลกนี้ในเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิตที่ยอมรับ AI มากขึ้น AI จะไม่นำไปสู่การปลดพนักงานจำนวนมากแต่จะสร้างงานด้าน AI เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ

ต้องมอง AI เป็นเพื่อนร่วมงาน เสริมให้เราทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ ในปี 2024 ความคุ้นชิน มนุษย์กับ AI นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ และ จะเห็นได้ว่า AI นั้นมีประโยชน์ ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ประยุกต์ใช้ได้ทันที ก็คือ

การลดขั้นตอนการทำงานให้สั้นลงในการทำงานบางอย่าง เช่น การรวบรวมข้อมูล สรุปประเด็นสำคัญ ช่วยหาไอเดียที่น่าสนใจ จากที่เราต้องมานั่งรวมทีมกันประชุมหลาย ๆ คน ก็สามารถทำได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที

ในขณะที่บางสาขาอาชีพ อย่างคนทำงานผลิตโฆษณา ก็สามารถใช้ Generative AI สร้างภาพ Sketch เพื่อการนำเสนอหรือการบรีฟงานที่มีรายละเอียดของงานได้โดยใช้เวลาเพียงไม่นาน ทำให้ประหยัดเวลาและได้โฟกัสงานในขั้นตอนอื่นได้มากกว่าเดิม

สำหรับคนทำงานที่ยังไม่เคยลองใช้งาน AI อาจจะต้องลองเปิดใจ และอย่ามองว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์ ในขณะที่คนใช้ AI เป็นอยู่แล้วก็อย่าคิดว่าจะให้ AI ทำงานแทนทุกอย่างไปเลย เราจะได้สบาย คนทำงานในยุคใหม่ควรทำงานด้วย Mindset ที่เรียกว่า AI Conductor คอยควบคุมและสั่งการให้ AI ช่วยทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมนุษย์ เปรียบเป็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งในทีมที่จะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงาน Routine กิจวัตรที่ทำซ้ำๆ หรืองานไหนที่ AI ทำได้ดีกว่าเราและประหยัดเวลาของเราได้ ก็ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ AI

ต่อไป AI อาจกลายเป็นผู้ช่วยส่วนตัวที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ตั้งแต่เด็กจนโต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนที่เด็กนักเรียนสามารถถามหาความรู้ได้ทุกเรื่อง

AI ไม่ใช่สิ่งที่จะมาทดแทนมนุษย์

หากมองในภาพรวมแล้ว AI ไม่ใช่สิ่งที่จะมาทดแทนมนุษย์ แต่คนที่เชี่ยวชาญในการใช้งาน AI ต่างหากที่เราต้องแข่งขันด้วย

ในอนาคตอันใกล้  AI จะยิ่งพัฒนาไปแบบก้าวกระโดดแบบเร็วจนแทบตามไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generative AI  ยิ่งเราใช้งานมากเท่าไร เจ้า AI ก็จะฉลาดมากขึ้นเท่านั้น  ส่วนเรื่องที่ว่ามันจะฉลาดไปถึงขั้น  Artificial Super Intelligence หรือไม่ คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่แทนที่จะกลัวว่า AI จะมาทำงานแทนและทำให้มนุษย์อย่างเราตกงาน เราควรจะกลัวตัวเองไม่ทันโลกหรือเสียเปรียบคู่แข่งที่เป็นมนุษย์ที่รู้จักประยุกต์ใช้การทำงานของ AI ดีกว่า

โดยสรุปแล้ว กับ ในโลก 2024 กับประเด็นของ AI จะแย่งงานหรือไม่นั้น  น่าจะใช้คำพูดของ Jensen Huang ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NVIDIA มาสรุปเรื่องราวทุกอย่าง นั่นคือ

“AI ไม่ได้แย่งงานมนุษย์ แต่คนที่เก่ง AI ต่างหาก ที่กำลังเข้ามาแย่งงานมนุษย์ด้วยกันเอง”

อย่ากลัว AI จะมาทดแทนมนุษย์ แต่จงกลัวคนที่ใช้ AI เป็น จะมาแย่งงานคุณได้  เพราะถ้าเรามีทักษะก็จะสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

แหล่งข้อมูล

https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/853039