ในช่วงภัยพิบัติรุนแรงจนจำเป็นต้องอพยพออกจากพื้นที่ หนึ่งในเรื่องที่น่ากังวลไม่แพ้อันตรายต่อชีวิตคือ พฤติกรรมของโจรขโมยที่อาศัยช่วงชุลมุนในการเข้าถึงทรัพย์สินภายในอาคาร ส่งผลให้พื้นที่ภัยพิบัติมักมีอาชญากรรมพุ่งสูง นานเข้าก็ทำให้เจ้าของบ้านไม่อยากอพยพจากความเป็นห่วงทรัพย์สินในบ้าน
นี่เป็นเหตุผลให้เริ่มมีแนวคิดในการเพิ่มการเฝ้าระวังพื้นที่และบ้านเรือนของประชาชนด้วยโดรนระบบ AI
โดรน AI สำหรับเฝ้าระวังและตรวจตราพื้นที่ประสบภัย
แนวคิดนี้เป็นของ รัฐบาลญี่ปุ่น กับการพัฒนาโดรนอัตโนมัติ ที่มีการติดตั้งกล้องสำหรับจับภาพพร้อมระบบ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ในการระบุกิจกรรมผิดปกติ เพื่อให้สามารถแยกแยะและตรวจสอบการก่ออาชญากรรมภายในพื้นที่ภัยพิบัติ โดยเฉพาะในพื้นที่อพยพที่ยากต่อการตรวจตราป้องกัน
ญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศที่มีการอพยพประชาชนในการรับมือภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง แต่เมื่อมีการอพยพคนจากพื้นที่ก็นำไปสู่การเกิดอาชญากรรม ทั้งการบุกรุกและโจรกรรมทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก แต่การเฝ้าระวังส่วนนี้ถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากความชุลมุนวุ่นวายอีกทั้งยังอาจทำให้เจ้าหน้าที่เสี่ยงอันตราย
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผ่านโดรน AI อาศัยโดรนในการบินขึ้นตรวจตรา ติดตั้งกล้องพร้อมนำ AI มาร่วมประมวลผล เมื่อเริ่มปฏิบัติการโดรนจะบินเข้าสู่พื้นที่เองโดยอัตโนมัติ เพื่อตรวจจับกิจกรรมผิดปกติหรือพฤติกรรมต้องสงสัย เมื่อตรวจพบจึงทำการส่งข้อมูลเหล่านี้ไปสู่เจ้าหน้าที่ให้จัดการต่อไป
ตัวโดรนจะได้รับการออกแบบสำหรับชวยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ลดภาระงานด้านการตรวจตราเฝ้าระวังเมื่อเกิดภัยพิบัติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนที่อพยพไปพร้อมกัน
นี่จึงเป็นแนวทางส่งเสริมศักยภาพตำรวจในการช่วยไม่ให้อาชญากรรมมาซ้ำเติมความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
โดรนอัตโนมัติ อนาคตแห่งวงการตำรวจและกู้ภัย
แนวคิดในการใช้โดรนตรวจตราเฝ้าระวังพื้นที่หรือสนับสนุนการทำงานในเหตุฉุกเฉินไม่ใช่เรื่องใหม่ จากความสะดวกสบายของเทคโนโลยีในการรับมือสถานการณ์ต่างๆ กระทั่งโดรนสำหรับตรวจตราเฝ้าระวังอัตโนมัติเอง ก็ยังได้รับคววามสนใจและเริ่มมีการนำไปปรับใช้ในบางพื้นที่
ตัวอย่างเช่น โดรน AV8 ที่ทำงานอัตโนมัติโดยไม่ต้องควบคุม พร้อมเริ่มปฏิบัติการเข้าสู่พื้นที่ทันทีเมื่อได้รับแจ้งเหตุ และกำลังทดสอบการใช้งานในเท็กซัส สหรัฐฯ, โดรน Responder ที่พร้อมรับมือเหตุและระงับเหตุได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ ไปจนโดรน DFR ของกรมตำรวจอังกฤษที่ถูกออกแบบมาเพื่อขนส่งอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินต่างๆ
การใช้งานโดรนเหล่านี้ช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้คล่องตัว เข้าถึงพื้นที่อันตรายทางอากาศ ช่วยสำรวจสถานที่เกิดเหตุจึงมีเวลาเตรียมพร้อมในการรับมือ ช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานซึ่งสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้โดยอาจไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่เอง
สำหรับโดรนอัตโนมัติสำหรับใช้ในพื้นที่ภัยพิบัติของญี่ปุ่น พวกเขาตั้งใจจะพัฒนาโดรนให้ตรวจจับอาชญากรรมหรือการโจรกรรมภายในพื้นที่ จากนั้นจึงทำการติดตามเพื่อตรวจสอบข้อมูลไว้ใช้สำหรับเข้าจับกุมในภายหลัง ป้องกันเหตุบุกรุก ลักทรัพย์ ไปจนโจรกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเวลาภัยพิบัติ
แต่การใช้โดรนอัตโนมัติสำหรับการตรวจตราเหล่านี้ก็นำมาสู่การตั้งคำถามในหลายด้านเช่นกัน
อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากโดรนอัตโนมัติ
ข้อสงสัยนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่เทคโนโลยีโดรนเริ่มมีการใช้งานแพร่หลาย แต่เมื่อโดรนได้รับการพัฒนาให้ทำงานอัตโนมัติ พร้อมศักยภาพที่มากขึ้นสำหรับรองรับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่การแพทย์ กู้ภัย ไปจนตำรวจ ยิ่งทำให้ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้งานมากและอันตรายยิ่งขึ้นไปอีก
ประเด็นแรกคือ ความเป็นส่วนตัว การส่งโดรนขึ้นปฏิบัติการจำเป็นต้องเก็บภาพเพื่อทำการตรวจสอบพื้นที่โดยรอบ จึงอาจนำไปสู่การละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนในละแวกใกล้เคียง แม้การเก็บข้อมูลนี้อาจช่วยเพิ่มความปลอดภัย แต่ก็อาจนำไปสู่การตั้งคำถามว่า หากมีการใช้โดรนอัตโนมัติตรวจตราทั่วไปจะคุกคามความเป็นส่วนตัวเกินไปหรือไม่
อันดับต่อมาคือ การโจมตีทางไซเบอร์ แม้โดรนเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยการเชื่อมต่อไร้สายหากไม่มีระบบความปลอดภัยดีพอ อาจทำให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่รั่วไหลจนอาจเป็นอันตรายต่อประชาชน ในกรณีเลวร้ายโดรนตำรวจก็อาจถูกนำไปใช้ในการก่ออาชาญากรรมได้เช่นกัน
อีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับการพูดถึงจากผู้เชี่ยวชาญคือ การใช้งานในทางผิดจากเจ้าหน้าที่หรือภาครัฐเอง โดรนอัตโนมัติมีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ไปจนควบคุมประชาชน นำไปสู่การตั้งข้อกังวลว่า การนำโดรนเหล่านี้มาใช้งานอาจเป็นการมอบอำนาจที่มากเกินไป จนอาจกลายเป็นการคุกคามจากภาครัฐได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามโดรนจัดเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งในการตรวจสอบ สนับสนุน ไปจนกู้ภัยต่างๆ เหตุภัยพิบัติทั้งหลายแม้แต่น้ำท่วมในไทยเองก็มีการใช้โดรนเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างมุ่งพัฒนาส่งเสริมเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว
ในส่วนการควบคุมและกำกับดูแลเราอาจจำเป็นต้องควบคุมและดูแลให้เข้มงวดผ่านช่องทางอื่นต่อไป
แหล่งข้อมูล