“สถานีแยกขยะชุมชนซอยพระเจน” เปลี่ยนขยะเป็นเงิน ลดโลกร้อน

 


  • ปัญหาขยะ เกิดจากมนุษย์ หากอยากช่วยสภาพแวดล้อม โลกของเรา ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน
  • กทม. มีขยะโดยเฉลี่ยวันละ 8,700 ตัน เดือนละ 2 แสนกว่าตัน  ปีละ 3 ล้านกว่าตัน มีค่าบริหารจัดการขยะ โดยเฉลี่ยวันละ 20 กว่าล้านบาท เดือนละ 600 กว่าล้านบาท ปีละ 7,000 กว่าล้านบาท
  • สถานีแยกขยะชุมชนซอยพระเจน สามารถลดจำนวนขยะรีไซเคิลไปบ่อฝังกลบได้มากกว่า 6.4 ตัน ซึ่งคิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 12,000 กิโลคาร์บอนฯ เทียบเท่า

“ขยะ” เป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื่องความยั่งยืนที่ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้คน สิ่งแวดล้อม และปัญหาโลกร้อน  ซึ่งจำนวนขยะที่มากขึ้นในทุก ๆ วัน กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม

จากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทยปี 2566 พบว่าประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตัน/วัน เฉลี่ยเท่ากับ 1.12 กิโลกรัม/คน/วัน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ปี พ.ศ.2566  โดยพื้นที่กรุงเทพสูงสุด 12,748 ตัน/วัน ขณะที่ถูกกลับมาใช้ประโยชน์เพียง 9.31 ล้านตัน

ช่วยโลกร้อน ต้องเริ่มจากตัวเรา

“อลิอันซ์ อยุธยา” ดำเนินธุรกิจสนับสนุนการสร้างความยั่งยืน ด้วยพันธกิจและวิสัยทัศน์ที่มุ่งการเปลี่ยนแปลง “เพราะเราใส่ใจในวันพรุ่งนี้” ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการขยะด้วย “กลุ่มมาหามิตร” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 และขยายความร่วมมือมาเรื่อยๆ  อาทิ  โครงการปทุมวัน Zero Waste ,นิทรรศการ THINK ทิ้ง..ชีวิต โดยกลุ่มอลิอันซ์ ได้ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ จากการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มอลิอันซ์ที่มีอยู่กว่า 70 ประเทศทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2030

“พัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารงานลูกค้าและความยั่งยืน บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เล่าว่า กลุ่มอลิอันซ์ อยุธยา ให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นด้านความยั่งยืน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การมีงาน/มีกิน และการร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งประเทศไทย อลิอันซ์ อยุธยา ได้ดำเนินการเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นอันดับแรก

“การเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ เราคงไม่สามารถไปบอกให้ฝนหยุดตกได้ และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่าง น้ำท่วมในขณะนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากมนุษย์ ดังนั้น หากอยากช่วยสภาพแวดล้อม ช่วยโลกของเรา ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน อลิอันซ์ อยุธยา มีพนักงานประมาณ 1,200คน เรามองว่าถ้าทุกคนรู้จักวิธีการคัดแยกขยะ และทำให้ออฟฟิศกลายเป็นสถานที่คัดแยกขยะจนทุกคนทำเป็นนิสัย เป็นการสร้างนิสัยใหม่ให้แก่พนักงานของเรา โดยกำหนดเป็นนโยบาย และร่วมมือกับทาง Chula Zero Waste ในการบริหารจัดการขยะ ทำให้ขณะนี้ อลิอันซ์ อยุธยา ไม่ได้ส่งขยะให้แก่กทม.แต่มีกระบวนการจัดการขยะที่ไม่ต้องนำไปยังบ่อฝังกลบ”พัชรา กล่าว

นำร่อง “สถานีแยกขยะชุมชนซอยพระเจน”

ปีนี้ “อลิอันซ์ อยุธยา” ได้ร่วมกับพันธมิตร ด้านการจัดการขยะ เพื่อสร้างต้นแบบการลดและการคัดแยกขยะในชุมชน โดยได้นำร่อง “ชุมชนซอยพระเจน” ซึ่งเป็นชุมชนที่มีพื้นที่กว่า 22 ไร่ มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 1,000 คน จากกว่า 373 ครัวเรือน

“พัชรา” เล่าต่อว่าการจะทำให้เป้าหมายของอลิอันซ์ อยุธยา จัดการขยะไปบ่อฝังกลบเป็นศูนย์ได้นั้น ต้องเริ่มจากการคัดแยกขยะ เริ่มจากในออฟฟิศ ในบ้าน  และต้องขยายผลในระดับชุมชน โครงการสถานีแยกขยะชุมชนซอยพระเจน จึงเป็นโครงการนำร่องของกลุ่มมาหามิตรที่เกิดจากความร่วมมือของ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ อลิอันซ์ อยุธยา , Waste Buy Delivery (โดยสถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ) ,ถุงขยะแชมเปี้ยน (บริษัท ดนุเดช อุตสาหกรรม จำกัด) และ Khaya (โดย Jak Reward Technology)

ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการสนับสนุนการลดขยะไปบ่อฝังกลบของชุมชน ด้วยการส่งเสริมการสร้างรายได้จากการแยกขยะ พร้อมทั้งการปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่คนในชุมชนได้เรียนรู้ การคัดแยกขยะ โดยสถานีแยกขยะจะเป็นพื้นที่สำหรับเป็นศูนย์กลางในการพักและรวบรวมขยะ มีอุปกรณ์และถุงขยะสำหรับการคัดแยกขยะ  มีการสร้างรายได้จากการรับซื้อขยะ รวมถึงมีการให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ และการจัดเก็บข้อมูล

“ตลอดระยะเวลา 3 เดือนในการจัดตั้งสถานีแยกขยะชุมชนซอยพระเจน มาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน สถานีแยกขยะชุมชนซอยพระเจน สามารถลดจำนวนขยะรีไซเคิลไปบ่อฝังกลบได้มากกว่า 6.4 ตัน ซึ่งคิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 12,000 กิโลคาร์บอนฯ เทียบเท่า และสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการขายขยะรีไซเคิลได้มากกว่า 26,000บาท หลังจากนี้จะมีการช่วยบริหารจัดการขยะเปียก และขยายไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อไป”พัชรา กล่าว

สร้างรายได้ สร้างตระหนักรู้

“สุรีพร จันทรประสาท” ประธานกรรมการชุมชนซอยพระเจน กล่าวว่าชุมชนซอยพระเจน มีปัญหาเรื่องขยะตกค้าง เพราะต่อให้ทางกทม.มาเก็บขยะทุกวัน แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เก็บไป เนื่องจากคนในชุมชนก็ต้องกินต้องใช้ทำให้มีขยะทุกวัน ทางชุมชนได้บริหารจัดการขยะมาโดยตลอด ทั้งกิจกรรมเก็บขยะแลกไข่ แลกเป็นเงิน หรือแลกเป็นสิ่งของ ขนมต่างๆ แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

เนื่องจากชุมชนไม่มีลานกว้าง เมื่อชาวบ้านคัดแยกขยะตอนแรกก็มีหน่วยงานเข้ามารับขยะทุกวัน แต่พอหายไป 1-2 วัน ขยะที่คัดแยกก็ไม่ได้มีการเก็บอย่างดี ทำให้เมื่อฝนตกก็กลายเป็นขยะไหลไปตามบ้านเรือน และสุดท้ายก็ต้องเลิกทำ

“การที่ทาง อลิอันซ์ อยุธยา และกลุ่มมาหามิตร เลือกชุมชนซอยพระเจน เป็นชุมชนนำร่อง ในการจัดตั้งสถานีแยกขยะชุมชน ถือเป็นเรื่องดีต่อชุมชน และชาวบ้านอย่างมาก เพราะต้องยอมรับว่าต่อให้ชาวบ้านอยากทำ แต่กำลังไม่พอ บริหารจัดการต่อไม่ได้ การที่มีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน ทำให้ตอนนี้การจัดการขยะของชุมชนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  ขยะที่ไปกับรถขยะ ไปยังบ่อฝังกลบของชุมชนลดลง และชาวบ้านมีรายได้  มีความตระหนักรู้ อยากร่วมคัดแยกขยะ”สุรีพร กล่าว

เปลี่ยนขยะเป็นเงิน เริ่มจากคัดแยกขยะ

“ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด และบริษัท เวสท์บาย เดลิเวอร์รี่ จำกัด  เล่าว่ากระแสของสังคมและโลก ผู้คนให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขยะมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งการจัดการขยะเป็นปัญหาของทุกคน ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ทุกควรคัดแยกขยะเหมือนใช้ชีวิตประจำวัน ต้องเปลี่ยนความคิดว่าบรรจุภัณฑ์ สิ่งเหลือใช้ไม่ใช่ขยะ แต่เป็นสินค้าและเป็นเงินได้

“ขยะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ขยะแห้ง ส่วนใหญ่จะเป็นขยะรีไซเคิล  2.ขยะเปียก จะมีขยะที่เป็นเศษผักผลไม้ และเศษอาหาร สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้ และ 3.ขยะอันตราย ขยะนี้จะต้องส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่าง กทม. ไปกำจัด  ซึ่งในเรื่องของขยะ หากทุกองค์กรดำเนินการเรื่องของ Zero Waste แนวทางการลดขยะให้เหลือศูนย์ หรือลดจำนวนขยะต่อคนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เริ่มจากการคัดแยกขยะ และเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นเงิน เปลี่ยนจากปัญหาเป็นโอกาส ก็จะช่วยปัญหาสิ่งแวดล้อมได้”

กทม. มีขยะโดยเฉลี่ยวันละ 8,700 ตัน เดือนละ 2 แสนกว่าตัน  ปีละ 3 ล้านกว่าตัน มีค่าบริหารจัดการขยะ โดยเฉลี่ยวันละ 20 กว่าล้านบาท เดือนละ 600 กว่าล้านบาท ปีล 7,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเงินเหล่านี้เป็นเงินจากภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินกทม. ดังนั้น ถ้าคัดแยกขยะให้ได้ 30 % หรือให้ได้ 943,000 ตัน ซึ่งขยะเดิม 3 ล้านตันต่อปี จะทำให้เกิดการลดงบประมาณในการจัดการขยะไป 2,000 กว่าล้านบาท และลดปริมาณขยะที่จะไปนำไปหลุมฝังกลบ

ส่งเสริมการคัดแยกขยะเศษอาหาร

“การแยกขยะ” เป็นการช่วยให้เกิดการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ และตัวช่วยสำคัญของการแยกขยะ ก็คือ ถุงขยะ  “กฤทธิ์ ดนุเดชสกุล” ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ถุงขยะแชมเปี้ยน (บริษัท ดนุเดช อุตสาหกรรม จำกัด) เล่าว่า ในโครงการสถานีแยกขยะชุมชนพระเจน เราได้สนับสนุนถุงขยะสีขาวขนาดใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทั้งคนแยกและคนรับ โดยการใช้ถุงขาวนั้นจะทำให้รู้ว่าขยะข้างในเป็นอะไร ตรวจเช็คได้ง่าย และหลังจากนี้จะสนับสนุนเรื่องการแยกขยะเศษอาหารในครัวเรือนของชุมชน เพราะเศษอาหารถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการจัดการขยะทั้งระบบ หากชุมชนสามารถแยกขยะเศษอาหารได้ จะทำให้ขยะที่เหลือง่ายต่อการจัดการเช่นกัน

ด้าน ม.ล. จิรทิพย์ เทวกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท Jak Reward Technology ผู้ก่อตั้ง KHAYA กล่าว KHAYA ได้ให้การสนับสนุน 2 ส่วน ได้แก่ การสนับสนุนด้านการจัดเก็บข้อมูลขยะ ชุมชน และการทำกิจกรรมกับชุมชน โดยมุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกในกลุ่มเยาวชนผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เพราะเราเชื่อว่ากลุ่มเยาวชนจะเป็นกำลังสำคัญในการจัดการดูแลขยะในอนาคตได้

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1146712