เมืองใหญ่ระดับโลก “ทุบคอนกรีต-เปิดหน้าดิน” ลดโลกร้อน


 

ตามไปดูเมืองใหญ่ทั่วโลก “รื้อพื้นถนน” เพื่อให้ต้นไม้เติบโต คืนลมหายใจสู่ผืนดิน

เริ่มต้นจาก Depave องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในเมือง Portland สหรัฐอเมริกา ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2008 ได้ทดลองรื้อคอนกรีตประมาณ 1,670 ตารางเมตรใกล้โบสถ์ท้องถิ่น

แนวคิดการรื้อพื้นถนนของ Depave ง่ายๆ เลยก็คือ การขยายพื้นที่สีเขียวในเมืองสามารถช่วยสุขภาพจิตของผู้คนดีขึ้น วิธีการก็คือ แทนที่คอนกรีต ยางมะตอย หรือหินปูถนน ด้วย “ดิน”

ตัวแทน Depave บอกว่า การรื้อพื้นถนนก่อกำเนิดให้สิ่งง่ายๆ ได้เกิดขึ้น นั่นก็คือ ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาในเมือง สามารถซึมลงสู่พื้นดินได้ ซึ่งสามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดพื้นถนนช่วยให้พืชป่าเจริญเติบโตขึ้นได้ในพื้นที่เมือง และเมื่อมีการปลูกต้นไม้มากขึ้น ก็จะเกิดร่มเงามากขึ้น ซึ่งจะช่วยปกป้องชาวเมืองจากรังสีดวงอาทิตย์ รวมทั้งคลื่นความร้อนอีกด้วย

ตัวแทน Depave ระบุว่า การที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย เป็นเรื่องดี ที่เมืองต่างๆ จะเริ่มนำวิธีเปิดพื้นถนนมาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

ทุกวันนี้ Depave ได้รื้อยางมะตอยใน Portland ออกไปแล้วราว 33,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่ากับ 4 สนามฟุตบอล

ผลงานของ Depave คือการเบี่ยงทางน้ำฝน 83 ล้านแกลลอนต่อปี ออกจากระบบระบายน้ำของ Portland

เช่นเดียวกับ Depave เพราะ Green Venture องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรใน Ontario แคนาดา ได้รับแรงบันดาลใจจาก Depave โดยตรง

ที่ผ่านมา Green Venture สามารถสร้างสวนเล็กๆ เพื่อปลูกพืชพื้นเมืองในเขตหนึ่งของเมือง Hamilton จากเดิมที่ประสบเหตุน้ำท่วมบ่อย ทุกวันนี้ น้ำสามารถซึมลงดินได้อย่างสะดวก

ตัวแทน Green Venture เผยว่า ก่อนหน้านี้ น้ำท่วมขัง ทำให้น้ำเสียลงไปปะปนกับน้ำในทะเลสาบ Ontario ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่มหลักของเมือง

“ภารกิจของ Green Venture คือปิดโอกาสน้ำท่วมไม่ให้เกิดขึ้นใน Hamilton อีก” เพราะการรื้อทางเดินคอนกรีต จะเปิดโอกาสให้เกิดพื้นที่สีเขียวในเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานวิจัยจำนวนมากชี้ตรงกันว่า คอนกรีตมีพื้นผิวที่ไม่ซึมน้ำ ช่วยเพิ่มความเสี่ยงน้ำท่วมในเขตเมือง

เช่นเดียวกับที่ Leuven ประเทศเบลเยียม มีการรื้อคอนกรีต 6,800 ตารางเมตร ทำให้ดินสามารถดูดซับน้ำฝนได้ถึง 1.7 ล้านลิตร ภายใต้โครงการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในเขต Spaanse Kroon ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรราว 550 คน

แผนคือการรื้อถนนยางมะตอยในพื้นที่พักอาศัย และกำหนดให้รถยนต์แบ่งปันถนนกับคนเดินเท้า และจักรยานอย่างเข้มงวด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถนนคอนกรีตที่เสียหาย และทรุดโทรม จะถูกแทนที่ถนนดินที่ทำเป็นเส้นทางเดินเท้า

“ฝรั่งเศส” ก็กำลังทำให้การรื้อพื้นถนนเป็นเรื่องถูกกฎหมายเช่นกัน

โดยรัฐบาลฝรั่งเศส ได้จัดสรรงบประมาณประมาณ 540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.8 หมื่นล้านบาท) เพื่อสนับสนุนโครงการนิเวศวิทยาเมือง ซึ่งก็คือ การรื้อพื้นพื้นยางมะตอย และถนนคอนกรีต กว่า 45,000 ตารางเมตร

ทั้งนี้ เพื่อให้เมืองเตรียมพร้อมต่อการเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นวงกว้างในฝรั่งเศส

ที่ “นครเมลเบิร์น” ออสเตรเลีย มีการกำจัดที่จอดรถกลางแจ้งในเมืองออกมากถึงครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 11,000 เอเคอร์

เนื่องจาก “นครเมลเบิร์น” มีที่จอดรถมากเพียงพอแล้ว ดังนั้น ควรเปิดพื้นที่เหล่านั้นให้เป็นพื้นที่สาธารณะ และเข้าถึงได้ง่าย

หลักการพื้นฐานก็คือ การไม่สูญเสียการเข้าถึงที่จอดรถ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปพร้อมกัน ซึ่งช่วยทำให้เมืองเย็นลง และป้องกันน้ำท่วม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่สีเขียว จะช่วยให้สัตว์บางชนิดเคลื่อนย้าย และพัฒนาในสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากที่เคยอาศัยอยู่เป็นเวลาหลายปี

เพราะการเพิ่มพืชพรรณเพียงเล็กน้อย สามารถทำให้สัตว์บางชนิด เช่น ผึ้ง มีพื้นที่ในการเคลื่อนที่ในเขตเมืองที่ใหญ่กว่าที่เคยเป็น

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/10/25/world-sustainable-city-case-study/