- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
โครงการพลิกฟื้นแผ่นดินที่ใช้เวลายาวนานกว่าสี่ทศวรรษนี้ไม่เพียงสร้างเขตพื้นที่สีเขียวเพื่อรับมือกับปัญหาพายุทราย แต่ยังพลิกโฉมพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจและมีคุณค่าทางระบบนิเวศวิทยา ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ของจีนในการทำในสิ่งที่เหลือเชื่อให้กลายเป็นจริง
โครงการในพลิกฟื้นแผ่นดินที่ใช้เวลานานหลายทศวรรษในเขตปกครองตนเองซินเจียง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยป้องกันการกลายเป็นทะเลทรายและกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพิ่งสร้างเสร็จ 100%
การสร้างพื้นที่สีเขียวรอบทะเลทรายทากลามากัน ทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ มีเป้าหมายสำคัญในการป้องกันพายุทรายและปกป้องโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้
ทะเลทรายทากลามากันมีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับประเทศเยอรมนี และมีเนินทรายที่สูงถึง 300 เมตร ซึ่งเปรียบได้กับความสูงของตึกระฟ้าประมาณ 100 ชั้น การสร้างพื้นที่สีเขียวนี้จึงเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคดังกล่าว
ทั้งนี้ ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญปัญหาภาวะทะเลทรายรุนแรงที่สุดในโลก โดยซินเจียงถือเป็นพื้นที่ที่มีทะเลทรายและดินทรายมากที่สุดในประเทศจีน รวมพื้นที่ทะเลทรายกว่า 1.0686 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 64% ของพื้นที่ทั้งหมดในซินเจียง และประมาณ 41% ของพื้นที่ดินทรายทั่วประเทศ
ทะเลทรายทากลามากัน ซึ่งตั้งอยู่ในแอ่งทาริมของซินเจียง เป็นทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน โดดเด่นด้วยทัศนียภาพที่ลึกลับและงดงาม แต่ก็แฝงด้วยความอันตรายร้ายแรง เมื่อกระแสลมพัดผ่าน พายุทรายจะปกคลุมทั่วท้องฟ้าและบดบังแสงอาทิตย์ ไม่ว่าทิศทางลมจะพัดไปทางใด ผลกระทบที่ตามมาคือพื้นที่เกษตรกรรมถูกฝังกลบด้วยทราย การคมนาคมหยุดชะงัก และระบบนิเวศได้รับความเสียหายอย่างหนัก
จีนใช้ความเพียรพยายามอย่างหนักหน่วง จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายทศวรรษ พื้นที่สีเขียวซึ่งมีความยาว 3,050 กิโลเมตร ได้สร้างเสร็จเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หลังจากปลูกพืชชุดสุดท้ายหลายชนิดในเขตหยู่เทียนทางตอนใต้ของทะเลทราย
ทะเลทรายทากลามากันซึ่งรู้จักกันในชื่อ “ทะเลแห่งความตาย” ถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่สีเขียวที่กั้นทรายยาว 3,046 กม. ทางการท้องถิ่นในเขตปกครองตนเองซินเจียง เปิดเผยว่าเมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน มีการปลูกพืชหลายชนิด เช่น ป็อปปูลัส ยูเฟรติกา (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ป็อปลาร์ทะเลทราย” หรือ “ต้นหูหยาง” สายพันธุ์ต้นไม้ที่แข็งแกร่งที่ปฎิบัติตนได้ดีในสภาพแวดล้อมแห้งแล้ง) และต้นหลิวแดง บนผืนทรายในเขตหยูเทียน ทางขอบด้านใต้ของทะเลทรายแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดพื้นที่สีเขียวช่วงสุดท้าย ตามรายงานของสำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าประจำภูมิภาคซินเจียง
ทั้งนี้ 90% ของต้นป็อปลาร์ทะเลทรายของโลกอยู่ในจีน 90% ของต้นป็อปลาร์ทะเลทรายในจีนอยู่ในซินเจียง และ 90% ของต้นป็อปลาร์ทะเลทรายในซินเจียงอยู่ในแอ่งทาริม
ด้วยความอลังการของทะเลทรายทากลามากันซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 337,600 ตารางกิโลเมตร และมีเส้นรอบวง 3,046 กม. ทำให้เป็นทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในจีน จึงต้องใช้เวลามากกว่า 40 ปี จึงจะล้อมรอบทะเลทรายแห่งนี้ด้วยพื้นที่สีเขียวได้อย่างสมบูรณ์
ภายในสิ้นปี 2023 ที่ผ่านมาเขตพื้นที่สีเขียวยาว 2,761 กม. ได้เชื่อมต่อโอเอซิสที่กระจัดกระจาย ทำให้เหลือเพียงส่วนสุดท้ายที่ท้าทายที่สุด ซึ่งเพิ่งแล้วเสร็จไป
ช่วงสุดท้ายนี้ มีความยาวประมาณ 285 กม. ทอดผ่านพื้นที่ทางตอนใต้ของทะเลทราย และเผชิญกับอันตรายจากลมและทรายที่รุนแรงที่สุด และมีความยากลำบากอย่างมากในการอุดช่องว่างนี้ เมื่อดูแผนที่ ในแอ่งทาริมในซินเจียงตอนใต้ มีภูเขาคุนหลุน ที่ราบสูงปามีร์ และภูเขาเทียนซานล้อมรอบจากทางใต้ ตะวันตก และเหนือ จนกลายเป็นแอ่งขนาดใหญ่ กระแสลมอุ่นและชื้นที่พัดมาจากมรสุมตะวันออกถูก “ดูดกลืน” ไปไกลหลายร้อยกิโลเมตร และภูเขาเทียนซานที่สูงตระหง่านก็ปิดกั้นไอน้ำจากมหาสมุทรแอตแลนติก แต่นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นมา ซินเจียงได้ใช้มาตรการที่กำหนดเป้าหมายและมาตรการทางวิทยาศาสตร์เพื่อปิดช่องว่างนี้ได้สำเร็จ
ควบคู่ไปกับเขตพื้นที่สีเขียว ทางการยังมีการพยายามส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมทราย เช่น การปลูกซิสแทนเช (พืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เติบโตกระจายอยู่ในดินแดนแห้งแล้ง และทะเลทรายทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ในทางการแพทย์แผนจีน ใช้รากซิสแทนเชเป็นยาบำรุงร่างกาย เพราะมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น เสริมความจำ ป้องกันโรคทางระบบประสาท รวมถึงการต่อต้านอนุมูลอิสระ) และพืชผลอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น
ทูห์ติ ราห์มัน ผู้อำนวยการสำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าประจำภูมิภาคซินเจียง กล่าวว่า เขตพื้นที่นี้ทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้นทางนิเวศวิทยา และจะรับประกันเสถียรภาพของการผลิตทางการเกษตร ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตในเมือง และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของซินเจียง
ทูห์ติ ราห์มัน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ซินเจียงจะเสริมสร้างเขตพื้นที่สีเขียวให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
โครงการควบคุมทะเลทรายทากลิมากันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการป่าสงวนสามเขตแดนทางเหนือของจีน (TSFP) ซึ่งเป็นโครงการปลูกป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อแก้ปัญหาการกลายเป็นทะเลทราย
ทั้งนี้ ปัญหาการกลายเป็นทะเลทราย (Desertification) คือกระบวนการที่พื้นที่แห้งแล้งหรือกึ่งแห้งแล้งสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินและความสามารถในการสนับสนุนชีวิตทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ ทำให้พื้นที่เหล่านั้นมีลักษณะใกล้เคียงกับทะเลทรายมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
TSFP เป็นโครงการที่กินระยะเวลานาวนานมาก โดยเปิดตัวตั้งแต่ปี 1978 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2050
ในเดือนมิถุนายน 2023 จีนเสนอให้เปลี่ยนโครงการ TSFP ให้เป็น “กำแพงเมืองจีนสีเขียว” ที่ใช้งานได้เต็มรูปแบบและไม่สามารถทำลายได้ รวมทั้งเป็นกำแพงกั้นความปลอดภัยทางระบบนิเวศในภาคเหนือของจีน
ตั้งแต่ปี 1978 จีนได้ขยายพื้นที่ปลูกป่าเพิ่มขึ้น 320,000 ตารางกิโลเมตร ภายใต้โครงการ TSFP และคาดว่าพื้นที่ปลูกป่าภายใต้โครงการนี้จะครอบคลุมพื้นที่กว่า 4 ล้านตารางกิโลเมตรใน 13 ภูมิภาคของจีน ภายในปี 2050 คิดเป็น 42.4% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ
ในช่วง 46 ปีที่ผ่านมา อัตราการปกคลุมของป่าในพื้นที่ที่โครงการ TSFP ปกคลุมเพิ่มขึ้นจาก 5.05% เป็น 13.84% ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 300,000 ตารางกิโลเมตรได้รับการปกป้อง
กำแพงสีเขียวรอบทะเลทรายทากลามากัน ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังและความมุ่งมั่นของมนุษยชาติในการฟื้นฟูโลกใบนี้ให้ยั่งยืน อภิมหาโปรเจกต์นี้ไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้กับภยันตรายของพายุทรายเท่านั้น แต่ยังส่งข้อความสำคัญถึงประเทศอื่นๆ ว่าแม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายที่ใหญ่หลวงเพียงใด แต่ด้วยความพยายาม ความอดทน และแผนการที่ชัดเจน จะนำพาไปสู่ความสำเร็จในที่สุด
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/11/28/china-green-wall-taklamakan-desert/