‘ไฮโดรเจน – นิวเคลียร์’ โซลูชัน เปลี่ยนผ่าน ‘พลังงานสะอาด’


พลังงานคาดแผนพลังงานชาติ 2024 เข้า ครม. หวังประกาศใช้ทันปี 67  ชี้ “ไฮโดรเจน-นิวเคลียร์” เทคโนโลยีแห่งอนาคต “ปตท. – กฟผ.” เฟ้นเทคโนโลยีทั่วโลกหนุนขานรับนโยบายรัฐร่วมมุ่ง Net Zero

ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) และแผนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเริ่มมีการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าในปี 2030 และช่วยหนุนให้มูลค่าไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 8 หมื่นล้านบาทในปี 2050

สำหรับแผน PDP ฉบับใหม่นี้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นอยู่ที่ 51% ส่วนใหญ่เป็นโซลาร์, ก๊าซธรรมชาติ 40% และไฮโดรเจน 5% ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะรวมอยู่ในสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และในปลายแผนฯ จะมีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์ เข้ามาเป็นทางเลือก

“มั่นคง-ราคา” โจทย์ท้าทายด้านพลังงาน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ. จะค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนเปลี่ยนผ่านจากก๊าซธรรมชาติที่สะอาดที่สุดให้เป็นเชื้อเพลิงตัวหลักก่อน ทั้งนี้ โจทย์ที่ท้าทายคือ ความมั่นคง และราคา ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกแต่ยังไม่เสถียร จึงเป็นโจทย์หลักที่ยาก และท้าทายพอสมควรว่าประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนได้ระดับไหน ดังนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยโดยเฉพาะระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่

ในอนาคตแบตเตอรี่จะต้องเข้ามาเมื่อราคาถูกลง ซึ่งตอนนี้ยังมีราคาแพง ส่วนไฮโดรเจนจะมีบทบาทมากขึ้นทั้งราคา และความเชื่อมั่น โดยต่างประเทศอาจเห็นความชัดเจนของพลังงานทดแทน ความเปลี่ยนผ่านจากน้ำมันเป็นไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยทั้ง ไฮโดรเจน, CCS (Carbon Capture and Storage หรือการดักจับ และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์) และ CCUS (Carbon Capture Utilization and Storage) เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน) ซึ่งจะเป็นพระเอก

“บางจาก” ลุยศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนา AI ( Artificial Intelligence : ปัญญาประดิษฐ์) เพื่อช่วยในการทำงานต้องแลกมาด้วยพลังงานมหาศาล ส่งผลต่อทรัพยากรโลก เช่น น้ำและพลังงาน ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงโรงไฟฟ้าซึ่งใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก Small Modular Reactors : SMR ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก

นอกจากนี้ จากการประมวล AI และใช้พลังงานรวมกัน 300-1,000 เมกะวัตต์ โดยในอนาคตคาดการณ์ว่าจะพุ่งไปถึง 5 กิกะวัตต์ เทียบเท่ากับพลังงานที่โรงงานน้ำมันบางจาก 100 โรงงาน ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือ โลกจะต้องหาแหล่งพลังงานอะไรมารองรับปริมาณใช้งาน AI และในตอนนี้ทั่วโลกก็ต่างกำลังหันกลับไปมองพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง ซึ่งไทยควรศึกษาเช่นเดียวกัน

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อท้ายที่สุดแล้วการใช้ดาต้าในปริมาณที่สูง ซึ่งทุกประเทศขณะนี้จะพบกับปัญหาเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า แม้แต่สหรัฐต้องการใช้พลังงานสะอาดที่มีความเสถียรมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาพลังงานนิวเคลียร์จะมีปัญหาแต่ก็จะนำกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้น กลุ่มบางจาก โดย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจเช่นกัน

ปตท.เพิ่มสัดส่วนลงทุนไฮโดรเจน

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ปตท.จะเข้ามามีบทบาทในการผลักดันการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในประเทศ และผลักดันโครงการ CCS โดยในร่างแผน PDP 2024 กำหนดสัดส่วนการใช้ไฮโดรเจน 5% นำไปผสมในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ สำหรับผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ เนื่องจากไฮโดรเจนถือเป็นพลังงานสะอาด ที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2065 และเทคโนโลยี CCS ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคตด้วย

“ปตท.ได้เข้าไปลงทุนในแหล่งไฮโดรเจนต่างประเทศเพื่อศึกษา และเรียนรู้เทคโนโลยี เช่น ในแหล่งตะวันออกกลาง หากเริ่มมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ก็พร้อมขยายการลงทุนเพิ่ม ประกอบกับถ้ารัฐบาลไทยเริ่มส่งเสริมให้นำไฮโดรเจนมาผสมรวมในท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. ก็พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเช่นกัน รวมถึงจะขยายการใช้ไฮโดรเจนไปสู่ธุรกิจโมบิลิตี้ (Mobility) ด้วย”

กฟผ.เชื่อนิวเคลียร์ SMR มั่นคงสูง

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้เพราะแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ในปริมาณน้อย และไม่มีการผูกขาดเหมือนน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจึงไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ กฟผ.ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปี และติดตามเทคโนโลยี SMR จากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐ รัสเซีย เกาหลีใต้ และจีน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับไทย

ปัจจุบัน กฟผ. มีโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คือ โครงการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนบนพื้นที่ศักยภาพของ กฟผ. ซึ่งมีเป้าหมายเริ่มดำเนินโครงการต้นแบบในปี 2573

ไฮโดรเจนโซลูชันพลังงาน

นายอากิระ ทาคาฮาชิ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ พาวเวอร์ (ประเทศไทย) และบริษัท เอ็มเอชไอ พาวเวอร์ โปรเจกต์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า พลังงานไฮโดรเจนสะอาดเป็นโซลูชันที่ยั่งยืน ที่ยังสามารถผลิตพลังงานไฮโดรเจนสะอาดได้จากไฟฟ้าเกินที่ผลิตจากแหล่งพลังงานที่ไม่สม่ำเสมอ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ทำให้เป็นเทคโนโลยีเสริมที่สนับสนุนเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้า และการบูรณาการพลังงานหมุนเวียน

อย่างไรก็ตาม ไฮโดรเจนมีต้นทุนการเริ่มต้นที่สูงคาดว่าต้องลงทุนครั้งใหญ่จากภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนการใช้เชื้อเพลิงนี้ในช่วง 10 ปี ก่อนที่จะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2040

ปัจจุบัน มิตซูบิชิ พาวเวอร์ กำลังดำเนินการสำรวจศักยภาพของพลังงานไฮโดรเจนสะอาดอย่างจริงจัง ด้วยการร่วมมือกับ New Energies Company ในเครือบริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชัน (สหรัฐ) พัฒนาโรงงานผลิต และจัดเก็บพลังงานไฮโดรเจนสะอาดในระดับอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภค

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1156046