‘ดีอี’ เร่งแก้กฎหมายป้องกันภัยออนไลน์


 “ดีอี” โชว์ลดอาชญากรรมออนไลน์ลง 40% เดินหน้าเร่งเสนอแก้กฎหมายเพิ่มโทษตัดวงจรโจร พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นวันสตอปเซอร์วิส

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงดีอี ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยช่วงที่ผ่านมาสามารถลดปัญญาลงได้กว่า 40% แต่จากการศึกษาเคสที่ตกเป็นเหยื่อหลังๆ พบว่า ผู้เสียหายจะมีการคุยกับมิจฉาชีพโดยตรงแล้วโอนเงินทำธุรกรรมออนไลน์ จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้นว่า เทคนิคหรือวิธีการของมิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกลวงมีวิธีการอย่างไรบ้าง จะช่วยเป็นเครื่องมือที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น

“คณะทำงานได้พยายามปิดทุกช่องทาง ทั้งบัญชีม้า ที่เปิดได้ยากขึ้น ซิมผี ที่มีการกวาดล้าง และใช้เอไอจับว่ามีการโทรศัพท์ออกมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน การให้มีการจดแจ้งถือครองซิมที่มากกว่า 5 ซิมการ์ด รวมถึงการตรวจจับผู้ที่ลักลอบขายซิมเถื่อน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเกี่ยวกับการตรวจสอบสินค้าก่อนรับ จากกรณีเก็บเงินปลายทาง”

ในช่วงวันปีใหม่นี้กระทรวงดีอี และรัฐบาลยังมีมาตรการที่จะออกมากำกับดูแลประชาชน เกี่ยวกับลิงก์แอปพลิเคชันดูดเงิน จะทำการเปลี่ยนระบบ

โดยใครที่จะส่งข้อความ SMS ต้องไปขึ้นทะเบียนกับผู้ให้บริการมือถือก่อนว่าใครเป็นผู้ส่ง (Sender Name) และหากเป็นข้อความ SMS ที่ส่งไปแล้วทำให้เกิดความเสียหาย จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย โดยเตรียมที่จะออกมาเป็นกฎหมายให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และธนาคารพาณิชย์ หากมีส่วนปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายกับประชาชนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบชดใช้ด้วย

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า  สำหรับกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขใน พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อให้การแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้จะมีเนื้อหาในเรื่องการเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะกรณีที่มีการระงับหรืออายัดบัญชีม้าที่มีเงินในธนาคาร และการเพิ่มโทษ การซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยถือว่า เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม โดยจะเพิ่มอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี ด้วย โดยขณะนี้ กฎหมายอยู่ในขั้นตอนของ คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง หากไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นๆ ก็จะส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป

สำหรับสถิติยอดแจ้งความออนไลน์สะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 30 พฤศจิกายน 2567 มีจำนวน 739,494 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 77,360,070,295 บาท เฉลี่ยความเสียหายวันละ 77 ล้านบาท ผลการอายัดบัญชี จำนวน 560,412 บัญชี ยอดอายัดได้ จำนวน 8,627,715,890 บาท

ขณะที่ตั้งแต่วันที่  1 – 30  พฤศจิกายน 2567 ผลการแจ้งความออนไลน์ รวม 31,353 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 2,540,251,400 บาท เฉลี่ยวันละ 85 ล้านบาท ผลการอายัดบัญชี จำนวน 16,229 บัญชี ยอดขออายัด จำนวน 1,864,371,518 บาท ยอดอายัดได้ จำนวน 383,933,622 บาท

สำหรับประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้

  • หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มูลค่าความเสียหาย 146,876,439 บาท
  • หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 526,791,217 บาท
  • ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 444,379,386 บาท 
  • หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 99,885,464 บาท
  • หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น มูลค่าความเสียหาย 221,723,880 บาท

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1158037