10 เทรนด์เทคโนโลยี ปฏิวัติ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ปี 2025


“ปี 2025 รายได้ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์คาดว่าจะเติบโตชะลอตัวอยู่ที่ 3.4%YOY และมีมูลค่าอยู่ที่ 9 แสนล้านบาท” บทวิเคราะห์จาก LOGISTICS : INDUSTRY ANALYSIS AND OUTLOOK แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ SCB ทำให้ทราบถึงแนวโน้มการเติบโตของ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ ของไทย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ยังต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และ ความยั่งยืน ตั้งแต่การใช้ระบบอัตโนมัติไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง โซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมกำลังปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน ช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับความท้าทาย และ ความต้องการที่ซับซ้อนของลูกค้าได้

โดยบทวิเคราะห์เดียวกันนี้ยังชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีสำคัญที่ภาค อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ต้องให้ความสำคัญ เรียนรู้ เพื่อนำมาปรับใช้ขับเคลื่อนธุรกิจในยุคนี้ คือ Green logistics กับ LogTech ซึ่งเป็น 2 เทรนด์ธุรกิจโลจิสติกส์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเทรนด์ Green logistics กำลังเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในไทยได้เริ่มให้บริการ Green logistics กันมากขึ้น ส่วนเทรนด์ Logistics technology (LogTech) จะช่วยยกระดับการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น พร้อมทั้งลดต้นทุนบริหารจัดการ ขณะที่การแข่งขันของธุรกิจในระยะข้างหน้าจะยังสูงต่อเนื่อง

และแนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจคาดว่าจะเน้นใน 3 ด้านหลัก ได้แก่

1.การขยายบริการโลจิสติกส์ที่ทับซ้อนกันมากขึ้นทั้งในประเภทขนส่งและลักษณะสินค้า อันนำมาสู่การแข่งขันด้านราคา

2.การแข่งขันด้านคุณภาพในการขนส่ง จากการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

3.การแข่งขันในธุรกิจจัดส่งพัสดุที่รุนแรงต่อเนื่อง ทั้งในด้านราคาและคุณภาพบริการ จากสภาพตลาด Red ocean ที่แข่งขันดุเดือดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากผู้ให้บริการรายใหญ่หลาย

ขณะที่ 3 ความท้าท้ายหลักของธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2025 ที่บทความจาก SCB มองว่าภาค อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ของไทย จะต้องรู้เพื่อวางแผนรับมือ นั่นคือ

1.เศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอตัวและเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, การกีดกันทางการค้า, เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวลดลงและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2.การเปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการและยานพาหนะที่ใช้บริการเพื่อตอบสนองกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและแผนการลดคาร์บอนฟุตพรินต์

3.การใช้เทคโนโลยี AI ในด้านการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ด้วยความสามารถในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเส้นทางขนส่งอย่างเช่นสภาพอากาศกับสภาพจราจร และข้อมูลอัตราค่าขนส่ง อีกทั้งยังสามารถเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ว่าจ้างขนส่งได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี เพื่อเจาะลึกให้เห็นถึง เทคโนโลยีสำคัญ ที่กำลังปฏิวัติโลกของโลจิสติกส์ SCGJWD ผู้นำด้านธุรกิจโลจิสติกส์ในไทย จึงได้เผยแพร่บทความเรื่อง “ส่อง 10 เทรนด์เทคโนโลยีโลจิสติกส์ปี 2025 ที่น่าจับตามอง” เพื่อชี้ให้เห็นถึงเทคโนโลยีชั้นนำที่กำลังปฏิวัติโลกของโลจิสติกส์ ดังนี้

1.โดรน

โดรนกำลังเปลี่ยนแปลงการจัดส่งขั้นสุดท้ายหรือการส่งมอบไมล์สุดท้าย (last mile delivery) ด้วยการให้บริการที่รวดเร็วและประหยัดสำหรับพื้นที่ห่างไกลและในเมือง ลดเวลาในการจัดส่ง ลดต้นทุนการขนส่ง และลดการปล่อยก๊าซ หรือแม้แต่ในคลังสินค้า โดรนช่วยในการจัดการสินค้าคงคลังโดยการนับสต็อกได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการใช้คน ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และ ความผิดพลาดได้

ตัวอย่างการใช้โดรนด้านโลจิสติกส์ที่น่าสนใจ

1.1 Matternet: สตาร์ทอัพจากสหรัฐฯ ที่เชี่ยวชาญในโลจิสติกส์ด้วยโดรนสำหรับจัดส่งวัสดุทางการแพทย์และฉุกเฉิน

1.2 Wingcopter: บริษัทจากเยอรมนีที่นำเสนอโดรนหลายรุ่นที่สามารถจัดส่งพัสดุในระยะทางไกล

2.หุ่นยนต์ และ ระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation)

หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกำลังเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานในคลังสินค้าโดยการเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และความเร็วมากขึ้น โดยการใช้ระบบจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ (ASRS) ไม่ว่าจะเป็น รถโฟล์คลิฟท์ไร้คนขับ (AGV) และ หุ่นยนต์ช่วยจัดการงานที่ต้องใช้แรงงาน เช่น การคัดแยก การบรรจุ และการจัดเรียง ส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนแรงงาน และ ปรับปรุงเวลาในการจัดการคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ Robotic process automation (RPA) ช่วยทำให้การทำงานซ้ำๆ เช่น การออกใบแจ้งหนี้ และ การคีย์ข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสให้บุคคลากรมนุษย์สามารถทำงานที่มีมูลค่าอื่นๆ มากขึ้น

ตัวอย่างการใช้หุ่นยนต์ และ ระบบอัตโนมัติที่น่าสนใจ

2.1 SCGJWD : ประยุกต์ใช้ระบบ ASRS ในการจัดการคลังสินค้าห้องเย็นแบบ 100% ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนคลังสินค้าให้กับลูกค้าหรือแม้แต่ใช้ระบบ Object Recognition โดยการใกล้กล้องสแกนข้อความในเอกสาร หรือ ตู้คอนเทนเนอร์ ร่วมกับระบบ RPA คีย์ข้อมูลเข้าในระบบแบบอัตโนมัติ ทำให้สามารถจัดการเอกสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

3.ปัญญาประดิษฐ์ (AI)

AI ช่วยปรับปรุงการดำเนินงานโลจิสติกส์โดยการทำงานอัตโนมัติ ทำนายความต้องการ และ เพิ่มประสิทธิภาพของเส้นทางการขนส่งสินค้าได้ โดย AI จะ เรียนรู้ และ วิเคราะห์ข้อมูลในอดีตเพื่อปรับปรุง คาดการณ์ การจัดการสินค้าคงคลัง และ การกำหนดตารางเวลาขนส่ง เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด

หรือแม้แต่แชทบอตที่ขับเคลื่อนด้วย AI ช่วยปรับปรุงการให้บริการลูกค้า โดยให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์และตอบคำถามได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังสามารถพยากรณ์การบำรุงรักษารถ หรือ คลังสินค้าได้ ซึ่งช่วยลดเวลาหยุดทำงาน โดยการตรวจพบปัญหาของอุปกรณ์ก่อนที่มันจะลุกลามเกิดเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต

ตัวอย่างการใช้ AI ที่น่าสนใจ

3.1 Optimal Dynamics: สตาร์ทอัพจากสหรัฐฯ ที่ให้บริการแพลตฟอร์มการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วย AI สำหรับการปรับปรุงโลจิสติกส์

3.2 Transmetrics: สตาร์ทอัพจากบัลแกเรียที่ใช้ AI ในการปรับปรุงทำนายการขนส่ง และ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Optimization)

4.บล็อกเชน (Block Chain)

ระบบบล็อกเชนช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ และความปลอดภัยของข้อมูลธุรกรรมในโลจิสติกส์ ทำให้การจัดทำเอกสารไม่สามารถถูกปลอมแปลงได้ ซึ่งช่วยเพิ่มความโปร่งใส และ ประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการเคลื่อนย้าย และ สถานะของสินค้า ส่งผลดีต่อการติดตามสินค้า และ การตรวจสอบ Smart Contracts ซึ่งเป็นคุณสมบัติหลักของบล็อกเชน ช่วยให้กระบวนการโลจิสติกส์ เช่น การผ่านพิธีการศุลกากรและการจัดการการชำระเงินเป็นไปได้เร็วขึ้น ทำให้เวลาการอนุมัติสั้นลง และ ทำให้กระบวนการทางห่วงโซ่อุปทานมีความรวดเร็วมากขึ้น เมื่อบล็อกเชนถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย มันช่วยสร้างความไว้วางใจในหมู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลดภาระงานทางการบริหาร และ อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทั่วโลก

ตัวอย่างการใช้บล็อกเชนที่น่าสนใจ

4.1 steamchain: สตาร์ทอัพจากสหรัฐฯ ที่ให้บริการระบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) สำหรับการชำระเงินระหว่าง Business to Business (B2B) ทั่วโลกที่ง่าย และ ปลอดภัย ด้วยข้อมูลธุรกรรมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

4.2 OBORTECH: สตาร์ทอัพจากเอสโตเนียที่ใช้บล็อกเชน และ IoT ผ่านแพลตฟอร์ม Smart Hub ของตน ซึ่งเป็นโซลูชั่นที่ไม่สามารถถูกปลอมแปลงได้ ช่วยให้การแชร์ข้อมูลมีความโปร่งใส

5.ยานพาหนะอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles)

ยานพาหนะอัตโนมัติกำลังปฏิวัติโลจิสติกส์โดยการเพิ่มความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความยั่งยืน การขจัดข้อผิดพลาดจากมนุษย์ ช่วยลดอุบัติเหตุและลดต้นทุนได้ ยานพาหนะเหล่านี้สามารถทำงานได้ตลอดเวลา ช่วยเพิ่มเวลาในการจัดส่งและความยืดหยุ่น โดยเฉพาะในการจัดส่ง first mile delivery และ last mile delivery

อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและใช้การวางแผนเส้นทางที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อลดการจราจรและลดการปล่อยก๊าซ ไม่มีการขับรถเร็วเกินที่กำหนด ไม่มีการขับรถนอกเส้นทาง อันเป็นที่มาของการปล่องก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้น

ตัวอย่างการใช้ Autonomous Vehicles ที่น่าสนใจ

5.1 Clevon: สตาร์ทอัพจากสหรัฐฯ ที่ผลิตยานพาหนะอัตโนมัติที่ไม่ปล่อยก๊าซ สำหรับการจัดส่งในเมือง โดยมีการจัดการจากผู้ควบคุมระยะไกลเพื่อลดต้นทุน ลดต้นทุนค่าแรงงานได้ 80-90% ไร้อุบัติเหตุ

6.Internet of Things หรือ IoT

อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Internet of things กำลังปฏิวัติโลจิสติกส์ด้วยการให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน เซ็นเซอร์ และ อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันจะตรวจสอบสภาพการจัดส่ง เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และ ตำแหน่ง เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าถูกส่งในสภาพที่ดีที่สุด เทคโนโลยีนี้ช่วยให้บริษัทลดการเสื่อมเสีย ติดตามการจัดส่ง และสามารถจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ IoT ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการยานพาหนะ โดยการทำนายการบำรุงรักษา ลดเวลาหยุดทำงาน และปรับการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ข้อมูลแบบเรียลไทม์ช่วยให้บริษัทสามารถตอบสนองได้รวดเร็วขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลง เพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานโดยรวมได้

7.โลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics)

ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่บริษัทต่างๆ ในโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ โดยบริษัทต่างๆ เลือกใช้แนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน โลจิสติกส์สีเขียวที่เรามักเห็นกันในปัจจุบัน ประกอบด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และการใช้แหล่งพลังงานทดแทนในการปฏิบัติงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ยังสอดคล้องกับความพยายามทั่วโลกในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutallity) อีกด้วย

ตัวอย่างโลจิสติกส์สีเขียวที่น่าสนใจ

7.1 การขนส่ง และ การปฏิบัติงานของ SCGJWD : ได้มีการ EV Truck and EV Forklift ในการปฏิบัติงาน สามารถลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง 356,000 ลิตร ลดต้นทุน 10.75 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 964.1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2566

7.2 ส่วนคลังสินค้า Smart Warehouse : พัฒนาการจัดเก็บและเบิกจ่ายด้วยระบบอัตโนมัติ ช่วยลดการใช้โฟล์คลิฟท์ได้กว่า 40 คัน ต่อ 1 คลัง รวมถึงปรับใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนพลังงานไฟฟ้าภายในคลัง

นอกจากนั้น Logistic Planning and control tower (LPCT) ยังได้พัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร เพื่อวางแผนการจัดเที่ยวขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการขนส่งเที่ยวเปล่า ด้วยระยะทางที่สั้นและใช้เชื้อเพลิงให้น้อยที่สุด

8.ข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ (Big Data & Analytics)

ข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ ช่วยให้บริษัทโลจิสติกส์มีข้อมูลที่นำไปใช้ มีการตัดสินใจที่ดีขึ้น และ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น การดำเนินงานในคลังสินค้าจะใช้การวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงการออกแบบคลังสินค้า และ การจัดตำแหน่งสินค้าคงคลัง นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูลตลาดช่วยให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้จำหน่าย ปรับกลยุทธ์การตั้งราคา และ จัดการระดับสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลขนาดใหญ่ยังช่วยในการบริหารความเสี่ยง โดยการตรวจพบความผิดปกติของข้อมูล และ แนวโน้มของข้อมูล ช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้รวดเร็ว

ตัวอย่างการใช้บิ๊กดาต้า และ การวิเคราะห์ที่น่าสนใจ

8.1 Nautiluslabs: บริษัทจากสหรัฐฯ ที่ใช้ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือโดยการวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางในอดีต คาดการณ์การใช้เชื้อเพลิงที่เหมาะสมที่สุด และ ลดต้นทุนการดำเนินงาน

8.2 FACTIC: แพลตฟอร์ม SaaS (Software as a service) จากสหรัฐฯ ที่เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เชิงพยากรณ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยการพยากรณ์ความต้องการของลูกค้า และใช้ระบบอัตโนมัติในการจัดการการสั่งซื้อ และ และการสต็อกสินค้าให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมที่สุด

9.คลาวด์คอมพิวติ้ง

โซลูชั่นแบบคลาวด์กำลังเปลี่ยนแปลงโลจิสติกส์ด้วยโมเดล SaaS ลดความจำเป็นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน IT ที่ต้องใช้ทุนสูง ขณะที่ยังคงความยืดหยุ่นในการจ่ายตามการใช้งาน (pay-per-use) แอปพลิเคชันบนคลาวด์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์ระดับโลกโดยรวมการสื่อสารและทำลายอุปสรรคทางภูมิศาสตร์

แพลตฟอร์มคลาวด์ช่วยอำนวยความสะดวกในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยให้กระบวนการด้านโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับการตัดสินใจที่ดีขึ้น และปรับปรุงการบริการลูกค้า นอกจากนี้ระบบที่รวมศูนย์ยังช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างทีมในห่วงโซ่อุปทาน ทำให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างการใช้แพลตฟอร์มคลาวด์ที่น่าสนใจ

9.1 Alpega: สตาร์ทอัพจากเบลเยียมที่ให้บริการระบบการจัดการการขนส่ง (Transportation Management System) แบบคลาวด์สำหรับโลจิสติกส์ทั้งหมด ช่วยให้การสื่อสาร และ ติดตามการจัดส่ง เป็นไปแบบเรียลไทม์

10.การบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นความยืดหยุ่น (Elastic Logistics)

การบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นความยืดหยุ่น (Elastic logistics) ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงขั้นตอน และ กระบวนการโลจิสติกส์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น การปรับเพิ่มหรือลดสเกลการปฏิบัติการ แนวทางนี้จะช่วยให้ใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงเวลาพีค และ ป้องกันไม่ให้มีกำลังการผลิตเกิน หรือ การใช้งานทรัพยากรไม่เต็มที่ในช่วงที่มีความต้องการของตลาดต่ำ

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2025/02/19/logistic-technology-trends-2025/