สมาร์ทซิตี้ คือ เมืองที่มีความสุข เมืองฉลาด คนฉลาด
โดยตามนิยามเมืองอัจฉริยะของ สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็น "เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน"
หรือสรุปใจความสำคัญได้ตามรูปด้านล่าง
ความสมาร์ททั้ง 7 ด้าน
ไม่ใช่ว่าทุกเมืองจะเป็น Smart City ในรูปแบบเดียวกัน หากเปรียบเป็น “คน” อาจจะมีความสมาร์ทในท่าทางบุคลิก สมาร์ทในความสามารถ หรือสมาร์ทในทรรศนคติ ไม่ต้องสมาร์ทแบบเดียวกันก็ได้ ดังนั้น สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย จึงได้แบ่งความ Smart หรือ สมาร์ท ของเมืองนั้นออกเป็น 7 ด้าน ดังนี้
สิทธิประโยชน์ของเมืองที่เข้าร่วม Smart City Thailand
สำหรับสิทธิประโยชน์ของเมืองที่เข้าร่วม Smart City Thailand นอกจากจะได้รับตราสัญลักษณ์เป็นแรงจูงใจในการพัฒนาเมืองแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนในแง่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
● สิทธิพิเศษทางภาษี คือ ธุรกิจที่ให้บริการเกี่ยวกับ Smart City จะได้รับการละเว้นภาษีสูงสุด 8 ปี
● พื้นที่ที่ได้ตราสัญลักษณ์จะถูกจัดอันดับรับการพิจารณางบประมาณในการพัฒนาเมืองก่อน
● ได้รับกองทุนและการอบรมจาก depa
ในส่วนกองทุนและการอบรมจาก depa มีทั้งการประชาสัมพันธ์ การบรรยายให้ความรู้ในเรื่องของ Smart City และกิจกรรมสำคัญที่ depa ได้ทำ คือ การสร้างทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ความสามารถในการ Transform เมืองไปสู่เมืองอัจฉริยะผ่านการอบรมบุคลากรใน 3 ระดับ ด้วยกัน ได้แก่
- Smart City Leadership เป็นคอร์สอบรมสำหรับระดับผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชาการ เช่น ผู้ว่าการจังหวัด ผู้ว่าการอำเภอ ผู้นำชุมชน
- Smart City Officer คอร์สอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
- Smart City Ambassador คอร์สอบรมคนรุ่นใหม่เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นกำลังหลักสำคัญในการผลักดันเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะไปพร้อมกับหน่วยงานรัฐ
โดยสรุป แล้ว depa จะทำหน้าที่ทั้งขับเคลื่อน Smart City ให้เกิดขึ้นได้จริง ทั้งในเชิงนโยบายการสนับสนุนเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดระบบนิเวศน์ที่อุ้มให้เมืองเติบโต และสนับสนุนโดยตรงผ่านกองทุนและการคัดเลือกเมืองที่ต้องการพัฒนาขึ้นมาเพื่อสนับสนุนผ่านโครงการต่าง ๆ
Smart City ต้องเป็นเมืองแบบไหน? เมืองแบบไหนที่เข้าเกณฑ์คัดเลือกสนับสนุนจาก depa
เมืองที่จะสามารถสมัครเพื่อขอรับตราสัญลักษณ์ Smart City Thailand ได้ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการพัฒนาเมือง สามารถเป็นเขตหรือหน่วยการปกครองในระดับได้ก็ได้ และจะยื่นเสนอโดยภาครัฐหรือเอกชนก็สามารถทำได้ เพียงแต่แผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ยื่นเข้ามาจะต้องเข้าเกณฑ์ใน 5 เรื่องต่อไปนี้
1. มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการพัฒนาเมือง
เมืองจะต้องมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ต้องการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองสำหรับอะไร เช่น เป็นเมืองเกษตรอัจฉริยะ เป็นเมืองสำหรับธุรกิจ เป็นเมืองท่องเที่ยว หรือเป็นเมืองสำหรับเกษียณ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับบริบทและความเห็นของคนในพื้นที่ที่อยู่อาศัย
2. มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
เมืองต้องแตกรายละเอียดแผนพัฒนาออกมาให้มีแผนพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานว่า เมืองจำเป็นต้องการโครงสร้างพื้นฐานอะไรบ้างเพื่อให้สามารถพัฒนาเมืองตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่วางไว้ได้ ยกตัวอย่างเช่น การตัดถนน การสร้างสนามบิน การเพิ่มระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ
3. มีแผนพัฒนาระบบข้อมูลและความปลอดภัย (City Data Platform)
ในการจะพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ได้ รากฐานการทำงาน คือ การใช้ข้อมูลหรือดาต้า (Data) ดังนั้น เมืองจะต้องมีแผนพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลหรือ City Data Platform ข้ึนเพื่อทำงาน โดยอาจแยกการจัดเก็บข้อมูลออกเป็นหมวดหมู่ (Category) ที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ เช่น ข้อมูลพลังงาน ข้อมูลสิ่งแวดล้อม ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลประชากร
4. มีระบบเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน (อย่างน้อย 1 ข้อ)
แผนพัฒนาเมืองจะต้องสอดคล้องกับกับระบบเมืองอัจฉริยะอย่างน้อย 1 ระบบใน 7 ด้านเหล่านี้ด้วยกัน ทั้งนี้ ในทุกแผนพัฒนาเมืองที่แต่ละเมืองยื่นเสนอเข้ามา จะต้องสอดคล้องกับระบบเมืองสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะหรือ Smart Environment
ระบบเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ได้แก่
1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) – เป็นเมืองที่มุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการบริหารจัดการ และติดตามเฝ้าระวัง สิ่งแวดล้อมและสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การเฝ้าระวังภัยพิบัติตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
2. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) – เป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐสะดวก รวดเร็ว เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
3. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) – เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มความสะดวก ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) – เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมือง หรือใช้พลังงานทางเลือกอันเป็นพลังงานสะอาด (Renewable Energy) เช่น เชื้อเพลงชีวมวล ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และไฟฟ้าจากพลังงานอื่นๆ เป็นต้น
5. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) – เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างให้เกิดความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ และประยุกต์ใช้นวัตกรรม ในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ (เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น)
6. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) – เป็นเมืองที่มุ่งเน้นให้บริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต เช่น การบริการด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ การเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนด้วยการเฝ้าระวังภัยจากอาชญากรรม ไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการดำรงชีวิตที่เหมาะสม
7. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) – เป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้นอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางสังคม
5. มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
เมืองจะต้องมีแผนพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งอาจออกแบบเป็น Business Model ที่คิดและร่วมมือกับธุรกิจ/เอกชนในท้องถิ่นได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแผนหรือนโยบายจากภาครัฐเท่านั้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนจากภาคประชาชนหรือคนในพื้นที่มากที่สุด
หน้าตาของ Smart City ไทยในอนาคตที่ depa หวังอยากให้เกิดขึ้น
จากความพยายามในการผลักดันเมืองไปสู่ Smart City ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันในเชิงนโยบายและการลงมือสนับสนุนเมืองโดยตรง ภาพ Smart City ที่ depa มองว่า อยากไปให้ถึง คือ การ Transform โลกกายภาพไปเป็นสิ่งที่เรียกว่า “Digital Twin” หรือเกิดโลกเสมือนบนโลกดิจิทัลขึ้น
กล่าวคือ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นที่โลกจริง จะเกิดการตรวจจับ เก็บข้อมูล และเกิดดาต้าบนโลกเสมือนขึ้นทันที เพื่อให้สามารถจำลองสถานการณ์ (Simulation) แบบเรียลไทม์ในการแก้ไขปัญหาผ่านโลกเสมือนที่ปลอดภัยกว่า และทดสอบผลลัพธ์ได้รวดเร็วกว่า ตลอดจนใช้วางแผนพัฒนาเมืองในแง่มุมต่าง ๆ ได้
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยจะพัฒนาไปสู่ Smart City ในอุดมคตินั้นได้ จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาและทรัพยากรมหาศาล ทั้งการเตรียมความพร้อมคน การใช้เทคโนโลยี Sensor ตรวจจับและแปลงข้อมูลไปเก็บเป็น Big Data รวมถึง ใช้ AI: Artificial Intelligence เข้ามาบริหารงานบางส่วนแบบอัตโนมัติ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่อาจจะยังไม่สามารถเกิดพร้อมกันได้ในทันที
กลับมาที่ความคาดหวังในปัจจุบันของ depa คือ depa อยากให้แต่ละเมือง “เข้าใจปัญหาหรือโจทย์ของเมือง” ของตัวเองให้ชัดเจน ว่าทิศทางที่ต้องการให้เมืองพัฒนาไป คือ เป็นเมืองอะไร เพราะ depa ไม่รู้บริบทของแต่ละเมือง แต่สิ่งที่ depa ทำได้ คือ การสนับสนุน ให้ความรู้ และช่วยจับคู่เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับโจทย์/ปัญหาให้กับเมืองนั้น ๆ ได้
เมื่อองค์ประกอบต่าง ๆ มาเจอกัน คือ 1) เมืองรู้ปัญหา เข้าใจโจทย์ 2) เมืองมีแผนหรือ Business Model ที่ยั่งยืน และ 3) depa ช่วยจับคู่เทคโนโลยีกับวิธีแก้ปัญหา ทำ Solution Matching ร่วมกับเมือง เมื่อนั้นก็จะเกิด Smart City ที่แท้จริงได้ สำคัญที่เมืองจะต้องเข้าใจปัญหาและรู้จักปรับตัวอยู่ตลอด เพราะปัญหาของเมือง แน่นอนว่า ย่อมเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ รวมไปถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วไม่รู้จบสิ้น
__________________
ทุกเมืองในประเทศไทย สามารถเป็น Smart City ได้ ถ้าได้นำเทคโนโลยีที่ถูกต้องมาใช้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ Smart City ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน หรือไกลตัวจากบริบทที่เราทุกคนใช้ชีวิตอยู่ เพียงแค่เมืองรู้ว่าโจทย์คืออะไร แล้วจะใช้เทคโนโลยีอะไรมาแก้ปัญหา เมื่อจับคู่โจทย์กับเทคโนโลยีได้เหมาะสม ไม่ว่าเมืองไหนก็เป็น Smart City ได้
ที่ไหนเริ่มมีการพัฒนา Smart City กันบ้าง
ปัจจุบันมีการพัฒนา Smart City ทั้งหมด 10 เมือง ตั้งอยู่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งแบ่งความ สมาร์ททั้ง 7 แบบ (ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า) ตามจุดเด่นของแต่ละเมือง ดังนี้
1. เชียงใหม่ จุดเด่นด้านการท่องเที่ยว (Tourism) จึงได้มีแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวและการเกษตรที่ยั่งยืน โดยมีพื้นที่ถนนนิมมานเหมินทร์ – มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เป็นจุดเริ่มต้น
2. ขอนแก่น มุ่งพัฒนาขอนแก่นเป็นเมืองศูนย์กลางด้านการแพทย์ (Smart Living) โดยพัฒนาระบบศูนย์สั่งการด้านการแพทย์อัจฉริยะ รวมไปถึงแผนการขนส่งของภูมิภาคที่มีการพัฒนาระบบรางเบาสายเหนือ-ใต้ และการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยการลงทุนจากภาคเอกชน
3. ภูเก็ต เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน ภูเก็ตจึงมีแผนการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานเมืองอัจฉริยะ โดยพัฒนาขนส่งเมืองชนเมืองทั้ง ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) และ Smart Bus รวมไปถึงพัฒนาระบบบริหารจัดการขาย (Waste) และรองรับภัยพิบัติธรรมชาติ (Disaster)
4-6. ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา (EEC) สอดคล้องกับแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จึงได้มีการพัฒนา Smart City ในหลากหลายด้าน อาทิ Smart Economy ที่มีการส่งเสริม Starups ที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล จำนวน 14 ราย Smart Mobility ที่มีการพัฒนา Smart Port ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง และ Smart Bus (รถโรงเรียน) ในพื้นที่แหลมฉบัง
7. กรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่มีการพัฒนาคือบริเวณชุมทางบางซื่อ หรืออีกชื่อคือ “เมืองอัจฉริยะศูนย์คมนาคมพหลโยธิน” ให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมและธุรกิจแห่งใหม่ที่เชื่อมต่อพื้นที่กรุงเทพฯ กับภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภูมิภาคอาเซียน และจีน รวมไปถึงแผนการพัฒนา Smart Economy ที่จะพัฒนาเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ ศูนย์กลางการค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า (MICE) ในอนาคต เป็นต้น
ในส่วนของ Smart Government ที่เมืองส่วนใหญ่มีการพัฒนาจะเป็นด้าน IOC (Intelligent Operation Center) หรือ ศูนย์ปฏิบัติการในระดับต่างๆ ของภาครัฐแบบอัจฉริยะ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางประมวลผลสารสนเทศ เพื่อใช้ในการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์และเชิงสถานการณ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของ Smart City
- เข้าถึงข้อมูล ข่าวสารสามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้ในทุกระดับ ทำให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
- ช่วยให้การจราจรคล่องตัวขึ้น ระบบจะช่วยให้การสัญจรสะดวกรวดเร็วขึ้น
- ลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ ประหยัดน้ำและพลังงาน เพราะมีการบริหารจัดการพลังงานทั้งภาคการผลิต การส่งจ่ายพลังงาน โดยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
- สร้างความปลอดภัย ประชาชนเข้าถึงแหล่งอุปโภค สาธารณูปโภค การบริการเข้าถึงทุกพื้นที่
- ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนทั้งเด็กและสังคมผู้สูงอายุ เช่นการตรวจสุขภาพ การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผ่านทางระบบของ smart city
- ลดค่าใช้จ่าย ในส่วนภาครัฐการบริการจัดการทรัพทยากรบุคคล และเอกสารต่าง ๆ
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองไทยให้เป็น Smart City โดยได้ระบุแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยเข้าไปในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วย เพราะถือว่า การพัฒนาเมืองนั้น เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งภายใต้บทบาทของ depa ในการ Transform เมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะนั้น จะให้ความสำคัญใน 2 ประเด็น ได้แก่
1) การนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาเมือง เพื่อให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีข้ึน
2) การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการสนับสนุน SMEs และ Start-up ด้วยความรู้ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ในหมู่ประเทศอาเซียนที่ไทยเป็นสมาชิกก็มี ASEAN Smart Cities Network ที่ใช้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการพัฒนาเมืองและเทคโนโลยี รวมไปถึงติดต่อกับประเทศพาร์ทเนอร์อย่างเช่น เกาหลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ฯลฯ เพื่อทั้งเรียนรู้แลกเปลี่ยนและหาโอกาสในการสร้างตลาดกับคู่ค้าต่างประเทศ จนเป็นระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่ช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตขึ้นได้
บทบาทของ depa ในการสนับสนุน Smart City
ปัจจุบัน depa มีบทบาทเป็นเลขาคณะกรรมการการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันให้เกิดการ Transform เมืองให้เป็น Smart City
หน้าที่หลักของ depa คือ การยื่นเสนอแผนพัฒนาและเสนอมาตรการที่ทำให้เกิด Smart City ขึ้นได้จริง ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายกับภาครัฐ นอกจากนี้ อีกบทบาทสำคัญของ depa คือ การเปิดรับสมัครเมืองที่ต้องการ transform ตัวเองเป็น Smart City โดย depa จะทำหน้าที่ตั้งเกณฑ์และประเมินคัดเลือกเมืองที่จะทำการ transform เป็น Smart City พร้อมกับได้ตราสัญลักษณ์ “Smart City Thailand” ไปครอบครอง ซึ่งปัจจุบัน ก็มีเมืองที่เข้าร่วมกว่า 30 เมือง ใน 23 จังหวัด